โปรโมชั่น ครบ 1 ปี รับของแจกฟรี
http://kasidit-herbal.blogspot.comแป๊ะก๊วย ช่วยเรื่องความจำเสื่อมได้จริงหรือ?
ข้อมูลจาก ดร. สุดารัตน์ หอมหวล
แป๊ะก๊วย (Ginkgo) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า : Gingko biloba L. (วงศ์ Ginkgoaceae)องค์ประกอบสำคัญ ในใบแป๊ะก๊วยมีสารประกอบทางเคมีมากมาย แต่สารออกฤทธิ์ที่สำคัญมีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกันคือ
1. สารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ ประกอบด้วยสาร sesquiterpene ได้แก่ ไบโลบาไลด์ (bilobalide) และ
ไดเทอร์ปีนคีโตน5 ชนิดรวมเรียกว่า “กิงโกไลด์” (ginkgolides) ได้แก่ ginkgolides A, B, C, J และ M
2. สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ในแป๊ะก๊วยมี flavonoid มากกว่า 30 ชนิด โดยเฉพาะ flavonoid glycoside โดยมีส่วน aglycone เป็นฟลาโวนอยด์หลัก 2 ชนิดคือ quercetin และ kaemferol เช่น quercetin-3-rhamnoside, kaemferol-3-rhamnoside, quercetin-3-rutinoside ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ในใบยังมีสารจำพวก biflavonoids หลายชนิด เช่น amentoflavone, bilobetin, ginkgetin, iso-ginkgetin ซึ่งเป็นสารที่พบ
เฉพาะในใบแป๊ะก๊วยเท่านั้น
สารสกัดใบแป๊ะก๊วยใน monograph ของเยอรมันมีชื่อว่า Ginkgo biloba leaf extract
สารสกัดนี้มี flavone glycoside 22-27%, terpene lactone 5-7% (โดยมี ginkgolides A, B และ C ประมาณ 2.8-3.4%, และ bilobalide ประมาณ 2.6-3.2%) และ ginkgolic acid ต่ำกว่า 5 mg/kg
(สารนี้ก่อให้เกิดอาการแพ้) โดยสารสกัดดังกล่าวนี้มีคือทางการค้าว่า EGb761 ซึ่งเป็นสารสกัดใบแป๊ะก๊วยจากประเทศเยอรมันที่นิยมนำมาใช้ในการศึกษาทางคลินิก
ข้อมูลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
1.ฤทธิ์ในการรักษาอาการผิดปกติในสมอง-ฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว จากการศึกษาพบว่าสารพวก flavonoid ในสารสกัดแป๊ะก๊วยมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เนื่องจากไปกระตุ้นการสร้าง prostacyclin และกระตุ้นการหลั่ง nitric oxide ซึ่งมีผลทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อหลอดเลือด - ฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนเลือดในสมอง สารสกัดแป๊ะก๊วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดที่สมองของหนูขาวได้ เนื่องจากฤทธิ์ต้าน platelet aggregating factor (PAF) และความสามารถในการยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด-ฤทธิ์เพิ่มความจำ การให้สารสกัดแป๊ะก๊วยในหนูถีบจักรสามารถกระตุ้นการ uptake ของ choline ที่ hippocampus และลดการสูญเสียของ muscarinic receptor และ alpha-2-adrenoreceptor ที่มักจะพบได้เมื่อมีอายุมากขึ้น
2.ผลต่อการทรงตัว และการได้ยิน สารสกัดแป๊ะก๊วยสามารถเพิ่มการเกิด action potential ของเส้นประสาท cochlea ในหนูตะเภาได้ หลังการถูกทำลาย และสารสกัดสามารถทำให้การทรงตัวดีขึ้น หลังการฉีดสารสกัดแก่หนูขาวที่ vestibular nucleus ด้านหนึ่งถูกทำลายไป
การศึกษาทางคลินิก1.ผลในการรักษาอาการ cerebral insufficiency อาการ cerebral insufficiency ประกอบด้วยอาการต่อไปนี้คือ ไม่มีสมาธิ, ความจำเสื่อม, งุนงง, ไม่มีแรง, เหนื่อย, สมรรถภาพทางกายลดลง อาการซึมเศร้า วิตกกังวล มึนงง หูอื้อ และปวดศรีษะ ผลการศึกษาพบว่าอาการโดยรวมดีขึ้น และพบว่าทำให้ความจำระยะสั้น (shorterm memory) ดีขึ้น ผลในการใช้รักษาอาการความจำเสื่อม (dementia) รวมทั้ง อัลไซเมอร์ พบว่าทำให้ cognitive performance และ social function ดีขึ้น อาการความจำเสื่อมในระดับอ่อนถึง ปานกลางพบว่าทำให้ความจำบางส่วนพัฒนาขึ้น
2.ผลในการรักษาโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน พบว่าสารสกัดสามารถรักษาโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (จะมีอาการคือขาดเลือดไปเลี้ยงปลายมือปลายเท้า)
3.ผลการรักษาอาการเวียนศรีษะ และหูอื้อ พบว่าการใช้รักษาอาการเวียนศรีษะดีขึ้น แต่อาการหูอื้อผลยังไม่แน่นอน
ขนาดที่ใช้
สำหรับผลิตภัณฑ์จากสารสกัดใบนี้ บางประเทศจำหน่ายในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ในบางประเทศ (เช่นไทย) ก็มีจำหน่ายในรูปของยา• รับประทานวันละ 120-240 mg แบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง สำหรับช่วยรักษาอาการ cerebral insufficiency ให้ยาติดต่อกัน 8 อาทิตย์ แต่ไม่เกิน 3 เดือน• รับประทานวันละ 120-240 mg แบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง สำหรับช่วยรักษาอาการเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน และอาการงุนงง มีเสียงในหู ให้ยาติดต่อกัน 6-8 อาทิตย์
ข้อควรระวังในการใช้
1. ระวังการใช้ในผู้ที่มีประวัติความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีประวัติการชัก และสตรีมีครรรภ์
2. ในรายที่รับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานควรหยุดรับประทานก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเลือดแข็งตัวช้า
3. ไม่ควรใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
วิธีเลือกใช้แป๊ะก๊วย
ปัจจุบันแป๊ะก๊วย ที่มีจำหน่ายทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศมี 2 รูปแบบ คือจำหน่ายในรูปยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กรณีเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ยา จึงไม่มีสรรพคุณใดๆในการป้องกัน บำบัด รักษาโรคได้ เนื่องจากปริมาณที่กำหนดให้ใช้ไม่ถึงขนาดที่ใช้ในการป้องกัน หรือบำบัดรักษาโรคเนื่องจากความหมายของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานโดยตรง นอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ และไม่ใช่ผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป หรืออาหารที่บริโภคเป็นอาหารหลักในแต่ละมื้อ” มักอยู่ในลักษณะเป็นเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว และลักษณะอื่น และมีจุดมุ่งหมายสำหรับบุคคลทั่วไป ที่มีสุขภาพปกติ (มิใช่สำหรับผู้ป่วย) โดยอาจมีส่วนประกอบของอาหารต่างๆเหล่านี้เข้าไป ได้แก่ วิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโน หรือสมุนไพร” หรือหมายถึง “สารอาหาร (dietary substance) ที่ใช้ใส่ในอาหารเพื่อเพิ่มการบริโภคสารนั้น” หรือหมายถึง “สารเข้มข้น (concentrate), metabolite, องค์ประกอบ (constituent) , สารสกัด (extract) หรือส่วนผสมของสิ่งที่กล่าวข้างต้นรวมกัน และต้องมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการวินิจฉัย รักษา หรือป้องกันโรคใดๆ บนฉลากด้วยเสมอ
หลักการเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
1.พิจาณาข้อมูลทางวิชาการ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ว่ามีการศึกษาวิจัยมากพอ และสรรพคุณที่กล่าวไว้ มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน โดยพิจารณาถึงวิธีการศึกษาวิจัย เป็นการวิจัยในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง ในคนปกติ หรือคนป่วย ทั้งนี้เพราะการศึกษาในสัตว์ทดลองแต่ละสายพันธุ์อาจให้ผลแตกต่างจากในคน การศึกษาที่น่าเชื่อถือควรมีการศึกษาในคน โดยมีกลุ่มควบคุมเพื่อเปรียบเทียบผล ผลการศึกษาควรมีนัยสำคัญทางสถิติ
2.พิจารณาถึงความปลอดภัยในการใช้ ว่ามีอาการข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้นว่ามีความรุนแรงหรือไม่ มีความปลอดภัยหรือไม่ หากต้องใช้ร่วมกับยาเดิมที่ใช้อยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว หากต้องรับประทานยาอื่นร่วมด้วย ควรติดตามรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่มี และผลิตภัณฑ์ควรมีการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัย และความเป็นพิษที่ดีพอ
3.ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ซึ่งจะได้รับการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ และผลข้างเคียงในระดับหนึ่ง ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของสารที่ไม่รู้จักมาก่อน ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาต จาก อ.ย.ก่อน
4. รูปแบบบของผลิตภัณฑ์ใช้ได้สะดวกหรือไม่ หากการศึกษาวิจัย ทำในรูปแบบ ฉีด ฝัง ทา ซึ่งไม่สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน การนำมาผลิตขายในรูปแบอื่น อาจไม่ให้ผลเช่นเดียวกัน และขนาดที่รับประทานมากน้อยแค่ไหน เพราะบางครั้งขนาดที่ใช้รับประทานสูงมาก (ในการศึกษาวิจัย) ซึ่งอาจสูงกว่าขนาดที่วางจำหน่าย ซึ่งเป็นการใช้ในลักษณะเป็นยามากกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาข้อมูลต่อไปนี้ด้วยคือ
1.มีจำนวนคนใช้ หรือบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากเพียงพอ แล้วระยะหนึ่ง
2.พิจารณาคุณประโยชน์ที่ได้รับ กับราคาว่าเหมาะสมกันหรือไม่
กรณีเลือกใช้เป็นยาเนื่องจากมีผลิตภัณฑ์แป๊ะก๊วยจำหน่ายหลากหลาย การนำมาใช้เพื่อผลในการเพิ่มความจำของผู้สูงอายุนั้น ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้ผ่านการ standardize ตัวยาสำคัญ (หาปริมาณตัวยา หรือกลุ่มสารสำคัญ)แล้วว่ามีปริมาณเพียงพอที่จะออกฤทธิ์ โดยอาจเป็นรูปสารสกัดจากใบ หรือสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ ก็ได้ แต่ต้องผ่านการ standardization ให้มีสาระสำคัญต่อไปนี้คือกิงโกไลด์ ginkgolides A, B และ C ประมาณ 2.8-3.4%, และ ไบโลบาไลด์ (bilobalide) ประมาณ 2.6-3.2% จึงจะมีผลต่อการเพิ่มความจำ
เอกสารอ้างอิง
1. Coates PM, Blackman MR, CraggGM, Levine M Moss J, White JD. Encyclopedia of Dietary Supplements. Marcel Dekker: USA, 2005
2. McDermott J. Complementary and Alternative Medicine. In Berardi RR, et al, eds. Handbook of Nonprescription Drugs. An Interactive Approach to self care. 14th ed. McGraw-Hill Inc: USA, 2004.
3. สุดารัตน์ หอมหวล. เอกสารประกอบการสอนเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement Products), รายวิชา 1503 312 เภสัชเวท 2 สำหรับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 3 คณะเภสัช ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2551.
4. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ความก้าวหน้าทางเภสัชวิทยา ของยา และอาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุ. ไทยมิตรการพิมพ์, กรุงเทพมหานคร, 2540