วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ยุงก้นปล่อง ตัวร้ายพาหะไข้มาลาเรีย

ทำงานในป่าเสี่ยงสุด




โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อ Plasmodium ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียว อยู่ใน Class Sporozoa มีวงจรชีวิตในสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์จำพวกยุง


1. เชื้อมาลาเรียในคนมีอยู่ 4 ชนิดคือ

1. Plasmodium falciparum (หรือไข้จับสั่นวันเว้นวัน ชนิดร้ายแรง จับไข้ทุก 36 ชม.)
2. Plasmodium vivax (หรือไข้จับวันเว้นวัน ชนิดไม่ร้ายแรง จับไข้ทุก 4 ชั่วโมง)
3. Plasmodium malariae (มีอาการคล้ายกับเชื้อชนิดไวแวกซ์)
4. Plasmodium ovale ( ไข้จับสั่นวันเว้นสองวัน จับไข้ทุก 72 ชั่วโมง)


2. ยุงพาหะนำเชื้อมาลาเรีย คือ ยุงก้นปล่องตัวเมีย ในประเทศไทยมียุงก้นปล่องประมาณ 68 ชนิด
มี 6 ชนิดที่สามารถนำเชื้อ โดยแบ่งดังนี้

1. ยุงพาหะหลัก (Primary vector) คือยุงที่มีบทบาทและความสำคัญต่อการนำเชื้อ ได้แก่ยุงก้นปล่องชนิด Anopheles dirus , Anopheles minimus , Anopheles maculatus

2. ยุงพาหะรอง (Secondary vector) มีความสำคัญและความสามารถการนำเชื้อรองลงมา ได้แก่ Anopheles acunitus , Anopheles sundaicus , Anopheles pseudowillmori
นอกจากนี้ยังมียุงก้นปล่องที่สงสัยว่าจะเป็นยุงพาหะอีกหลายชนิด เนื่องจากมีความหนาแน่นสูงและเป็นยังเป็นยุงพาหะในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่พบว่านำเชื้อในประเทศไทย ได้แก่ Anopheles phlippinensis , Anopheles barbirostris , Anopheles capestris , Anopheles culicifacies


3. สาเหตุและการติดต่อ

โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงก้นปล่อง โดยยุงก้นปล่องกัดคน
ที่มีเชื้อมาลาเรีย (ผู้ป่วย) จะทำให้เชื้อมาลาเรียเข้าไปอยู่ในตัวยุง ถ้ายุงที่มีเชื้อมาลาเรียไปกัดคนที่มีสุขภาพดีแข็งแรง ก็จะทำให้คนนั้นรับเชื้อ และเกิดการเจ็บป่วย แม้ว่าร่างกายสุขภาพแข็งแรงแต่ถ้าปล่อยให้ยุงมีเชื้อมาลาเรียกัด ก็มีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรียได้ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อจากมารดาที่มีเชื้อมาลาเรียในร่างกายแล้วถ่ายทอดทางรกไปสู่ทารกในครรภ์
แต่พบน้อยมาก หรือจากการถ่ายเลือดซึ่งกันโดยไม่ตรวจหาเชื้อมาลาเรียก่อนการให้เลือด


4. อาการ

ในระยะแรกไข้จะจับไม่เป็นเวลา อาจมีอาการไม่สบายในระยะ 2-3 วันแรก เช่น ปวดศรีษะ
ปวดเมื่อย เพลีย เบื่ออาหาร หลังจากนั้นไข้จะจับเป็นเวลา แบ่งเป็น 3 ระยะ

1. ระยะหนาว จะหนาวสั่นประมาณ 15-20 นาที มีอาการหนาวสั่นขนลุก ห่มผ้าหลายผืนก็
ไม่หาย อุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น ผิวหนังเย็นซีด อาจคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย แล้วจะเข้าสู่ระยะร้อน

2. ระยะร้อน นานประมาณ 2 ชั่วโมง อุณหภูมิร่างกายสูง 39-40 องศาเซลเซียส ชีพจรเต้นแรง ความดันโลหิตสูง ลมหายใจร้อน หน้าผิวหนังแดงและแห้ง คลื่นไส้อาเจียน กระหายน้ำ บางคนจะมีอาการกระสับกระส่าย หรือไม่มีสติ ปวดศรีษะมากปวดลึกเข้าไปในกระบอกตา ถ้าเป็นเด็กอาจชัก ต่อมาเหงื่อเริ่มออก อาการจะคลายร้อน

3. ระยะเหงื่อออก กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว เหงื่อออกทั่วตัว ความดันโลหิตกลับสู่ปกติ ผู้ป่วยรู้สึกเพลียหลับไป เข้าสู่ระยะพัก ไม่มีไข้ รู้สึกสบายดี กินเวลา 1-2 วัน แล้วแต่ชนิดของเชื้อและจะจับไข้อีก

- Relapse คือการกลับมีอาการและมีเชื้อมาลาเรียในโลหิตอีก หลังจากหายแล้วโดยไม่ได้รับเชื้อใหม่อีก เกิดเฉพาะชนิดไวแวกซ์และโอวาเล่ เพราะทั้ง 2 ชนิดนี้มีเชื้อมาลาเรียหลบซ่อนที่เซลล์ตับ ซึ่งจะเจริญเข้าสู่เม็ดเลือดแดงอีก จึงทำให้เป็นไข้กลับ แต่อาการจะไม่รุนแรงเหมือนครั้งแรก

- Recrudescence คืออาการไข้กลับที่เกิดจากเชื้อมาลาเรียถูกทำลายไม่หมด เชื้อที่เหลือจะเจริญเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้เกิดเป็นไข้มาลาเรียอีก จะเกิดเฉพาะเชื้อชนิดฟัลซิปารัม ส่วนเชื้อชนิดมาลาริอีอาจเกิดได้จากเป็นไข้ครั้งแรก

- Cerebral malaria (มาลาเรียขึ้นสมอง) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงซึ่งจะเกิดเฉพาะเชื้อชนิดฟัลซิปารัม จะมีอาการสับสน เพ้อคลั่ง ชักกระตุกไม่รู้สึกตัว หมดสติ ขาดอำนาจควบคุมการพูด อัมพาตครึ่งซีก บางรายอาจจะบ้าคลั่งได้ ถ้ารักษาถูกต้องจะฟื้นคืนสติได้ ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่ไม่เคยติดเชื้อมาลาเรียมาก่อน (ไม่มีภูมิคุ้มกัน)

5. การรักษา

หากมีอาการไข้และสงสัยว่าเป็นไข้มาลาเรีย ควรรีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียโดยเร็ว หากพบว่าเป็นไข้มาลาเรียจะต้องรีบรักษา โดยต้องกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง อย่าหยุดกินยากลาคันเมื่อเห็นว่าอาการดีขึ้น เพราะอาจจะทำให้เชื้อดื้อต่อยารักษา และจะต้องเปลี่ยนยาขนานใหม่อีก กลุ่มที่เสี่ยงต่อโรค ผู้อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีไข้มาลาเรียชุกชุม เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในป่า ผู้ที่มีอาชีพหาของป่า หรือต้องปฏิบัติงานในป่า ซึ่งต้องเข้าไปในท้องที่ที่มีไข้มาลาเรียชุกชุม รวมถึงนักท่องเที่ยวที่นิยมเที่ยวพักค้างแรมในป่า

6. ข้อควรระวัง

1. หลังจากไปท่องเที่ยวค้างแรมในป่าเขา ประมาณ 10-14 วัน หากมีอาการไข้ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อขอเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียโดยเร็ว

2. ผู้ป่วยไข้มาลาเรียบางรายอาจจะไม่แสดงอาการเด่นชัด แต่หากมีไข้หลังกลับจากค้างแรมในป่า ควรเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียเพื่อความปลอดภัยในชีวิต

3. สตรีมีครรภ์ หากเป็นไข้มาลาเรียอาจจะทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้

4. ผู้ป่วยไข้มาลาเรีย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง โดยเฉพาะเป็นเชื้อมาลาเรีย
ชนิดที่ขึ้นสมอง (ฟัลซิปารัม) อาจทำให้เสียชีวิตได้

7. การป้องกันและควบคุม

บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการกินยาป้องกันมาลาเรียก่อนเข้าพักแรมในพื้นที่ ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมาลาเรียแล้วจะไม่เป็นไข้มาลาเรีย ความจริงการกินยาป้องกันมาลาเรียนั้นไม่มีความจำเป็นเพราะขณะนี้ยังไม่มียาป้องกันที่ให้ผลดี แต่อาจจะทำให้เชื้อดื้อต่อยารักษาได้ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง หรือมุ้งชุบสารเคมีกันยุง ทายากันยุงที่ผิวหนัง พักอาศัยในบ้านหรือกระท่อมที่พ่นสารเคมีกันยุง สุ่มไฟไล่ยุง จุดยากันยุง พ่นยากันยุง หากไปพักค้างแรมในป่าหรือบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมาลาเรียแล้ว หลังกลับมาควรสังเกตตนเองว่ามีไข้ภายใน 15 วัน หากมีอาการไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียโดยทันที ที่มาลาเรียคลินิกหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน

ที่มา: กลุ่มโรคติดต่อนำโดยแมลง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่1 กรุงเทพฯ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ไม่มีความคิดเห็น: