วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สบู่ดำ เปลี่ยนวิกฤต น้ำมันนรก เป็น ทองคำ

วิกฤต เปลี่ยนน้ำมันนรกเป็นทองคำ ข้อมูลจาก ดร.สุดารัตน์ หอมหวล เมื่อวันที่ 20 กย. 51





สบู่ดำ” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas L. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ไม้ยางพารา (Euphorbiaceae)
เดิมเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ ชาวโปรตุเกสนำเข้ามาในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อรับซื้อเมล็ดไปคัดบีบเอาน้ำมันทำสบู่ เพราะมีฟองอันเป็นลักษณะพิเศษ ที่ได้ชื่อว่า “สบู่ดำ” เพราะมีฟองใช้ทำสบู่ และเปลือกเมล็ดสีดำ



สบู่ดำ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 15 ฟุต ใบมีหยักเล็กน้อย 3-5 หยัก ขนาดกว้าง 5-8 นิ้ว ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองปนเขียว มีขน ทั้งดอกตัวผู้ และตัวเมียปนกันเป็นกลุ่มออกจากลำต้น ผลสีเขียวรูปไข่ ยาวประมาณ 1 นิ้ว เมื่อผลแก่ เปลือกจะแห้งแตกออกเป็น 3 เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมีเมล็ดสีดำ การขยายพันธุ์ทำได้โดยใช้เมล็ด หรือปักชำ ทุกส่วนของต้น ใบ ผล และเมล็ด มีสารพิษกรด Hydrocyanic (หรือกาซไซยาไนด์) เหมือนกับมันสำปะหลัง และมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงใช้ปลูกเป็นรั้วธรรมชาติ สัตว์จะไม่เข้าไปทำลายพืชผล เพราะยางจากต้นสบู่ดำเป็นอันตรายต่อสัตว์ นอกจากนี้เมล็ดสบู่ดำ ยังมีสารพิษเรียกว่า “curcin” จัดเป็น toxic albumin หากกินเข้าไป โดยเฉพาะในเด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เก็บเมล็ดมากิน อาการจะเกิดเมื่อรับประทานตั้งแต่ 1-20 เมล็ด ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง และมีอาการท้องเดินเหมือนสลอด นอกจากนี้ยังพบสารพิษกลุ่ม phorbal ester มีฤทธิ์เป็น tumor promoter ทำให้เกิดเนื้องอก และเม็ดเลือดแดงแตก และยังมีสารพิษ saponin อีกด้วย ในเมล็ดมีน้ำมัน 55% หรือมากกว่า ได้รับฉายาว่า “น้ำมันนรก” เดิมใช้เป็นยาถ่าย แต่เนื่องจากมีพิษสูง และอาการถ่ายท้องรุนแรง จึงเลิกใช้


ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง แม้แต่น้ำมันก๊าดก็หาซื้อได้ลำบากมากชาวบ้านจึงได้นำเอาเมล็ดสบู่ดำมาตำละเอียด กรอกใส่กระบอกไม้ไผ่ ใช้เส้นด้ายดิบเป็นไส้จุดแทนเทียนไขได้อย่างดี ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทย และทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลในภาคการเกษตร รัฐบาลจึงส่งเสริมให้มีการผลิต และใช้ไบโอดีเซลที่เป็นผลผลิตการเกษตรทดแทนน้ำมันดิบที่ต้องนำเข้า สบู่ดำได้รับการวิจัยว่าเป็นไบโอดีเซลที่เป็นพลังงานทดแทนที่ดี เนื่องจากมีคุณสมบัติทางเชื้อเพลิงใกล้เคียงกับดีเซลหลายประการ ใช้เดินเครื่องยนต์ที่ให้การเผาไหม้สมบูรณ์ สะอาด ไม่พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในการเผาไหม้ และไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากประโยชน์ด้านไบโอดีเซลแล้ว มีการศึกษาวิจัยเพื่อหาสารที่มีฤทธิ์เป็นยารักษาโรคจากส่วนต่างๆของสบู่ดำ และพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้



1. ฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเดิน
จากการทดลองในหนูขาว ที่ทำให้เกิดอาการท้องเดินด้วยน้ำมันละหุ่ง พบว่าสารสกัด methanol จากรากของสบู่ดำ แสดงฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเดิน โดยขนาดของสารสกัดที่ให้ผลอย่างมีนัยสำคัญคือ 100-400 mg/kg คาดว่ากลไกการออกฤทธิ์เกิดจากการยับยั้งการสร้าง prostaglandin และฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก ซึ่งฤทธิ์นี้ตรงข้ามกับส่วนเมล็ดที่ทำให้เกิดอาการท้องเดิน

2. ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อบิด
สารสกัด butanol จากใบ ยับยั้งการเจริญของเชื้อ Entamoeba histolytica ในหลอดทดลอง โดยมีค่า MAC (minimal amoebic concentration) 21 ug/ml โดยออกฤทธิ์ได้ปานกลางเมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน metronidazole และสารสกัดนี้ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของลำไส้หนู ที่ถูกกระตุ้นด้วย acetylcholine โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้ง 90.45% โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน papaverine และ atropine sulfate ที่มีค่าการยับยั้ง 100%


3. ฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV
สารสกัด methanol จากใบ และสารสกัดน้ำจากกิ่ง ออกฤทธิ์ดีในการปกป้องเซลล์จากเชื้อ HIV virus โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด cytopathic effect (การเปลี่ยนแปลงของ host cell เนื่องจากติดเชื้อไวรัส) มีค่า IC50 = 9 และ 24 ug/ml ตามลำดับ, ค่า SI (selectivity index; CC50/IC50= 5.8 และ 41.7 ug/ml ตามลำดับ) ดังนั้นสารสกัดน้ำจากส่วนกิ่ง จึงมีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติต่ำกว่า และออกฤทธิ์ดี จากการแยกสารสำคัญจากส่วนกิ่งพบว่าสารที่ออกฤทธิ์คือ 5,7-dimethoxy coumarin และ 6,7- dimethoxy coumarin แต่สารทั้งสองมีฤทธิ์น้อยกว่าสารสกัดเริ่มต้น


สิทธิบัตรสบู่ดำ
ในประเทศไทยมีการจดสิทธิบัตรประเภทการประดิษฐ์ของ “การใช้สารสกัดจากสมุนไพรสบู่ดำ (Jatropha curcas L.) เป็นยารักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์” โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (วันที่ประกาศโฆษณา 17 ต.ค. 2543) โดยมีบทสรุปการประดิษฐ์ ที่ให้ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดังต่อไปนี้


บทสรุปการประดิษฐ์
สารสกัดจากใบสบู่ดำ (Jatropha curcas L.) ด้วย ethyl alcohol พบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อไวรัสเอชไอวี ต้านเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ ต้านเชื้อราฉวยโอกาส และสามารถกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวของคนได้ จากผลการทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังของสารสกัดสบู่ดำในหนูขาวพบว่า สารสกัดสบู่ดำในขนาด 5mg/kg เทียบเท่ากับขนาดที่ใช้ในคน 250 มิลลิกรัมต่อวัน ไม่ทำให้เกิดพิษที่ร้ายแรงใดๆแก่หนูขาว มีความปลอดภัยค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับยา zidovudine หรือ AZT ที่ใช้กันมากในปัจจุบัน ดังนั้นสารสกัดสบู่ดำ จัดเป็นยาใหม่ที่สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และโรคเอดส์ได้



นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยของสบู่ดำอีกมากมายอาทิ เช่น สาร Curcusone B (diterpenoid) มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการ metastasis ในระดับที่ไม่เกิดพิษต่อเซลล์, การทดสอบแบบ invitro มีฤทธิ์เป็น DNA intercalation จึงอาจนำไปพัฒนายากลุ่ม anticancerได้
เพราะวิกฤติด้านพลังงาน และวิกฤติด้านยารักษาโรคเอดส์ จึงทำให้สบู่ดำน่าสนใจทั้งในแง่การผลิตไบโอดีเซล และศักยภาพในด้านการวิจัยยารักษาโรคใหม่ๆ ที่อาจก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาลแก่มนุษยชาติต่อไปในอนาคตดังนั้นที่บอกว่าพืชพิษชนิดนี้มีมูลค่าไม่ต่างจากทองคำก็ไม่น่าเป็นคำกล่าวที่เกินจริง ใช่ไหมคะ

อย่างไรก็ดีการนำสบู่ดำมาใช้คงต้องรอผลการวิจัย และการทดสอบความปลอดภัยด้านอื่นๆต่อไปนะคะ บทความนี้เป็นเพียงความคืบหน้าของข้อมูลการวิจัยนะคะ ยังมิได้เป็นข้อมูลที่ประชาชนจะสามารถนำไปใช้ได้เองค่ะ


เอกสารอ้างอิง

1. รักษ์ พฤกษชาติ. การปลูก และพัฒนาสบู่ดำเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซล. กรุงเทพมหานคร: นีออนบุ๊คมีเดีย; 2549.
2. ผู้อ่าน ถึงผู้อ่าน. จุลสารข้อมูลสมุนไพร. 2528; 2(3):1-2
3. ชำนาญ ฉัตรแก้ว. บทนำ “สบู่ดำ”. ใน ชำนาญ ฉัตรแก้ว บก. สบู่ดำ พืชพลังงาน., กรุงเทพมหานคร: ฟันนี่ พลับบลิชชิ่ง; 2549. หน้า 1-11.
4.ประโยชน์ ตันติเจริญยศ. ประโยชน์ด้านอื่นๆของต้นสบู่ดำ. ใน ชำนาญ ฉัตรแก้ว บก. สบู่ดำ พืชพลังงาน., กรุงเทพมหานคร: ฟันนี่ พลับบลิชชิ่ง; 2549. หน้า 93-99.
5. Mujumdar AM, Upadhye AS , Misar AV. Studies on antidiarrhoeal activity of Jatropha curcas root extract in albino mice. J Ethnopharmacol. 2000; 70: 183-7.
6. Tona L, Kambu K, Ngimbi N, Mesia K, Penge O, Lusakibanza M, et al. Antiamoebic and spasmolytic activities of extracts from some antidiarrhoeal traditional preparations used in Kinshasa, Congo. Phytomedicine. 2000; 7(1): 31-8.
7. Matsuse IT, Lim YA, Hattori M, Correa M, Gupta MP. A search for antiviral properties in Panamanian medicinal plants. The effects on HIV and its essential enzymes. J Ethnopharmacol. 1999; 64: 15-22.
8. กรมทรัพย์สินทางปัญญา. 2543;[2 หน้า]. Available at: http://61.19.225.222:8085/PAT/search-pat-qry10.do . Accessed Feb 14, 2007.
9. Muangman S, Thippornwong M, Tohtong R. Anti-metastatic effects of curcusone B, a diterpene from Jatropha curcas. In vivo. 2005; 19(1): 265-8.
10. Gupta MP, Monge A. Karikas GA, Cerain AL, Solis PN, Trujillo ELM, et al. Screening of Panamanian medicinal plants for brine shrimp toxicity, crown gall tumor inhibition, cytotoxicity and DNA intercalation. Int J Pharmacog. 1996; 34(1): 19-27.



ขอขอบคุณ web:http://www.oknation.net/ ที่เอื้อเพื่อข้อมูลคะ

ไม่มีความคิดเห็น: