ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pachyrrhizus erosus Urban
วงศ์ : Leguminosae
ชื่ออื่นๆ : เครือเขาขน ถั้วบ้ง ถั่วกินหัว ละแวก มันแกวลาว มันละแวก มันลาว Jicama, Yam bean
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้เถาเลื้อยพัน มีหัวใต้ดิน เป็นรากสะสมอาหาร ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ ดอกช่อกระจะ ออกเดี่ยวๆ ที่ซอกใบ มีขนสีน้ำตาล กลีบดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน รูปดอกถั่ว ผลเป็นฝัก รูปขอบขนาน แบน มีขน เมล็ดมี 4-9 เมล็ด (1) มันแกวมีถิ่นกำเนิดในประเทศ เม็กซิโกและอเมริกากลาง แต่ในปัจจุบันแพร่หลาย ไปในเขตร้อน เช่น อินโดจีน อินโดนีเซีย จีน (2) เป็นต้น
มันแกวเป็นพืชที่มีหัวใต้ดินซึ่งรับประทานได้ แต่บางส่วนของมันแกวก็เป็นพิษได้เช่นกัน เช่น ใบและเมล็ดของมันแกวนั้นเป็นพิษ มีรายงานตัวอย่างผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ผู้ป่วยชายรายหนึ่งได้นำฝักมันแกวมาต้มรับประทานจำนวน 4 ฝัก ญาติได้นำส่งโรงพยาบาลซึ่งขณะนั้นผู้ป่วยมีอาการช็อค หมดสติ และหยุดหายใจ แพทย์ได้ให้ความช่วยเหลือ รักษาอาการ โดย ให้น้ำเกลือและปั๊มหัวใจ ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแต่ว่าคนไข้ยังคงมีอาการทางสมองอันเป็นผลเนื่องมาจากการหยุดหายใจ จากอาการดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นว่า
เมล็ดมันแกวเป็นพิษ
ตัวอย่างผู้ป่วย
ผู้ป่วยชายไทย อายุ 28 ปี รับประทานเมล็ดมันแกวเข้าไป 200 กรัม เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่า เป็นเมล็ดถั่วที่รับประทานได้ หลังรับรับประทานไปได้ 2 ชั่วโมง มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย (dizzy) อ่อนเพลีย และไม่สามารถก้าวเดินได้ จากนั้นไม่รู้สึกตัว หน้าซีด เริ่มมีอาการชัก กระตุกที่มือและเท้า ไม่สามารถควบคุมระบบทางเดินปัสสาวะได้ ท้องเสีย และได้เสียชีวิตหลังจากที่รับประทานไปได้ 11 ชั่วโมง (3)
การศึกษาวิจัยด้านความเป็นพิษ
มีรายงานการศึกษาวิจัยว่า สารสกัดเมล็ดด้วยน้ำทำให้หนูตะเภาตาย โดยไปกดระบบการหายใจ ทำให้การหายใจล้มเลวและตายในที่สุด และเป็นพิษต่อปลาทำให้ปลาตาย (4)
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าใช้เป็นยาฆ่าแมลง (5-6)
สารที่ทำให้เกิดพิษ
ฝักอ่อนของมันแกวสามารถรับประทานได้ แต่เมื่อแก่จะเป็นพิษ โดยเฉพาะที่เมล็ดของมันแกวนั้น มีสารที่มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง หลายชนิด ได้แก่ pachyrrhizin, pachyrrhizone,
12-(A)-hydroxypachyrrhizone, dehydropachyrrhizone, dolineone, erosenone, erosin, erosone (7), neodehydrorautenone, 12 -(A)-hydroxy lineonone, 12-(A)-hydroxymundu- serone (8), rotenone (9) นอกจากนี้ยังมีสารซาโปนิน ได้แก่ pachysaponins A และ B ซึ่งละลายน้ำได้ และเป็นพิษต่อปลาทำให้ปลาตาย ส่วนใบของมันแกวนั้นมีสารพิษคือ pachyrrhizid ซึ่งมีพิษต่อโคและกระบือมากกว่าม้า (2)
เมื่อศึกษาพิษของ rotenone พบว่า ถ้ารับประทาน rotenone เข้าไป จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน การหายใจเข้าไปพิษจะรุนแรงกว่า โดยไปกระตุ้นระบบการหายใจ ตามด้วยการกดการหายใจ ชัก และอาจถึงชีวิตได้ (10) มีรายงานว่าถ้ารับประทานเมล็ดมันแกวเพียงครึ่งเมล็ดจะเป็นยาระบาย และบางแห่งใช้เป็นยาขับพยาธิ ดังนั้นจึงควรระมัดระวัง นอกจากนี้อาจเกิดอาการพิษเรื้อรัง โดยทำให้ไขมันในตับและไตเปลี่ยนแปลง (2)
ส่วนพิษของสารซาโปนิน จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารเช่นกัน คือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีปัญหาในระบบกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้ ระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติและทำให้ชักได้ (11)
อาการเมื่อได้รับพิษ
เมื่อได้รับสารพิษจากเมล็ดมันแกวเข้าไป จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ถ้าได้รับสารพิษมาอาการจะรุนแรงขึ้น โดยจะมีผลต่อ ระบบท การหายใจ คือหยุดหายใจ ชักและถึงแก่ชีวิตได้ (11)
การรักษา
รักษาตามอาการต่างๆ เช่น ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ช็อค ต้องรีบช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้ด้วยตัวเอง หรือใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือเพื่อรักษาความสมดุลย์ของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ให้ยาตาม ความเหมาะสมตามแพทย์ที่ทำการรักษา (11)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น