วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พืชมีพิษ ลำโพงขาว

ลำโพงขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Datura metel L.
วงศ์ Solanaceae
ชื่อพ้อง Datura alba Nees
ชื่ออื่นๆ มะเขือบ้า มั้งโต๊ะโล๊ะ ละอังกะ ลำโพง เลี๊ยก Apple of peru, Green thorn apple, Hindu datura, Metel, Thorn apple
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นพุ่ม ขนาด 1.5-1.8 เมตร ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบหรือง่ามกิ่งมีสีขาวหรือขาวนวล เป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกมีขนาด 11.5-12.5 ซม. ใบเป็นรูปไข่ เส้นขอบใบหยัก ฐานใบไม่เท่ากัน ใบมีขน ผลเป็นรูปทรงกลมมีหนามแหลม ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก เป็นรูปไต สีน้ำตาล-เหลือง (2-3) ในสมัยโบราณนอกจากจะมีการใช้ลำโพงขาวเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเป็นยารักษา โรคแล้ว ยังมีการนำไปใช้ในการโจรกรรมทรัพย์สินและการฆาตกรรมอีกด้วย โดยมีการใช้เมล็ดมาผสมกับอาหารหรือเครื่องดื่มทำให้ผู้ที่รับประทานเข้าไป เกิดอาการมึนเมาไม่ได้สติทำให้ง่ายต่อการโจรกรรมทรัพย์สิน ผงจากดอกลำโพงหรือเกสรเมื่อโปรยเข้าไปในห้องก็สามารถทำให้ผู้ที่นอนหลับอยู่ หลับไหลไม่ได้สติได้เช่นกัน (4)

พืช สมุนไพรทุกชนิดถ้ามีการใช้ที่ถูกต้องและใช้ในขนาดที่เหมาะสม ก็จะสามารถรักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย อย่างเช่นพืชที่เราจะพูดถึงในที่นี้ คือ “ลำโพงขาว” ท่านผู้อ่านบางท่านอาจเคยทราบมาบ้างแล้วว่ามีการปลูกลำโพงขาวเพื่อนำไปใช้ใน การผลิตยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ในตำรายาแผนโบราณทั้งของไทย และจีน มีการใช้ดอกแห้งของลำโพงขาวเป็นตัวยาในการรักษา โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ ไข้หวัด และบรรเทาความเจ็บปวด ทั้งนี้การใช้น่าจะต้องมีขนาดที่เหมาะสมและตายตัวพอสมควร เนื่องจากในตำรายามักจะกำกับว่าห้ามรับประทานมาก หรือรับประทานมาอาจทำให้เสียจริตได้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการใช้ลำโพงขาวรักษาโรคต่างๆ นั้นจะต้องระมัดระวัง

ตัวอย่างผู้ป่วย

รายงานความเป็นพิษผู้ใหญ่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากการกินต้นลำโพงขาว (5)
รายงานความเป็นพิษในผู้ใหญ่เกิดขึ้นที่ประเทศศรีลังกา โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากการบริโภคต้นลำโพงขาว (6)
รายงานความเป็นพิษในเด็กเกิดขึ้นที่ประเทศซาอุดิอารเบีย มีสาเหตุเนื่องมาจากการบริโภคผลสดของลำโพงขาว (7)
รายงานความเป็นพิษในผู้ใหญ่ซึ่งเป็นการจงใจบริโภค ผู้ป่วยซึ่งเป็นชายชาวไนอามี 4 คน ดื่มชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของเมล็ดลำโพงขาว พร้อมกับสูบดอกแห้งของลำโพงขาว อาการพิษที่พบในผู้ป่วยทั้ง 4 รายเป็นอาการพิษที่คล้ายกับอาการพิษเนื่องจากอะโทรปีน โดยผู้ป่วยจะแสดงอาการทางประสาทเป็นหลัก กล่าวคือ มีอาการกระสับกระส่าย เพ้อ เดินเซ ประสาทหลอน รูม่านตาขยาย มีอาการคั่งของปัสสาวะ นอกจานั้นยังพบอาการอื่นๆ เช่น มีไข้ ปากแห้ง กระหายน้ำ และหัวใจเต้นแรง (8)
รายงานความเป็นพิษในเด็กอายุประมาณ 10-12 ปีเกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากการรับประทานดอกลำโพงขาว ผู้ป่วยมีอาการปากแห้ง ม่านตาขยาย ผิวหน้าร้อนแดงและมีไข้ (3)

สารที่ทำให้เกิดพิษ

พืชในกลุ่ม Datura spp. ทุกชนิดความเป็นพิษส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเนื่องจากสารกลุ่ม tropane alkaloids ซึ่งตัวสำคัญได้แก่ hyoscine และ hyoscyamine (สารกลุ่มนี้คืออะโทรปีน) เมื่อกินส่วนใดส่วนหนึ่งของลำโพงเข้าไปจะทำให้เกิดอาการพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วน เมล็ด หรือ ดอก (2-4,9-10) อัลคาลอยด์ที่มีมากที่สุดคือ scopolamine (hyoscine) ส่วน atropine, hyoscyamine และ norhyoscyamine จะมีอยู่ในปริมาณไม่มาก (9-10) สารเหล่านี้จะทำหน้าที่ไปขัดขวางการทำงานของ parasympathetic nerve (11)

โครงสร้างทางเคมีของ hyoscyamine และ hyoscine

อาการพิษ

เนื่องจากความเป็นพิษส่วนใหญ่เกิดจากสารกลุ่ม tropane alkaloids เมื่อเกิดอาการพิษ จะมีอาการปากคอแห้ง กระหายน้ำอย่างรุนแรง ตาพร่า รูม่านตาขยาย สู้แสงไม่ได้ น้ำลายแห้ง กลืนน้ำลายลำบาก และพูดไม่ชัด ผิวหนังร้อนแดง และแห้ง มีไข้ร่วมกับปวดหัว ผู้ป่วยจะรู้สึกสับสน ตื่นเต้น กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน มึนงง มีอาการประสาทหูและตาหลอน และอาจมีพฤติกรรมคล้ายโรคจิต ในเด็กบางคนมีอาการชัก ชีพจรเต้นเร็วและอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาการปัสสาวะคั่ง ท้องผูก ในรายที่รุนแรง คนไข้อาจหมดสติและโคมา (2-8)

การรักษา

1. ในกรณีที่รับประทานเข้าไปควรรีบขัดขวางการดูดซึมสารพวกอะโทรปีนโดยรีบด่วน ซึ่งอาจทำได้โดยรีบล้างท้อง หรือให้ผงถ่านแล้วให้ยาถ่ายตาม
2. ใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าจำเป็น
3. ลดไข้โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว
4. ให้ physostigmine (เด็ก ขนาด 0.5-1.0 มก., ผู้ใหญ่ ขนาด 1-4 มก.) เข้าเส้นเลือดดำช้าๆ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที ขนาดยาอาจเพิ่มขึ้นโดยฉีดซ้ำทุก 5 นาที แต่ขนาดยาทั้งหมดรวมกันแล้ว เด็กไม่เกิน 2 มก. และผู้ใหญ่ไม่เกิน 6 มก.
5. ควรมี atropine (1 มก.) เตรียมไว้ เพื่อแก้ไขกรณีที่ใช้ physostimine มากเกินไป จนทำให้เกิดหัวใจเต้นช้า ชัก ปรือทำให้หลอดลมเกร็งตัวอย่างมาก
6. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตื่นเต้นมากและชัก อาจให้ diazepam ได้ แต่ต้องระวังอย่าใช้ในขนาดสูง เพราะในระยะหลังการเกิดพิษเนื่องจากอะโทรปีนจะมีการกดการทำงานของสมองส่วน กลางร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้เสริมฤทธิ์กับ diazepam ได้ (2-3)


ไม่มีความคิดเห็น: