วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พืชมีพิษ มะกล่ำตาหนู

มะกล่ำตาหนู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abrus precatorius Linn.
วงศ์: Fabaceae / Leguminosae
ชื่ออื่นๆ : กล่ำเครือ กล่ำตาไก่ มะกล่ำเครือ มะแค็ก ไม้ไฟ มะกล่ำแดง เกมกรอม ชะเอมเทศ ตากล่ำ มะขามเถา (2) Rosary Pea, Crab’s eye, Precatory bean, Jequirity bean, American pea, Wild licorice
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้เลื้อย กิ่งย่อยมีใบเล็กๆ หลายใบเรียงกันเป็นรูปคล้ายขนนก ดอกเหมือนดอกถั่ว สีม่วงแดงหรือขาว ผลเป็นฝักแบนยาวขนาด 1-11/2 นิ้ว ฝักอ่อนมีสีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ภายในฝักมีเมล็ด 4-8 เมล็ด มักพบในเขตอากาศร้อน (1)



เด็กๆ ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อเห็นพืชที่มีสีสวยๆ มักชอบใจและหยิบเอามาเล่น มาลองทาน โดยไม่ทราบว่าพืชที่ทานนั้นเป็นอันตรายหรือไม่ โดยเฉพาะเมล็ดของต้นมะกล่ำตาหนูนี้ มีสีสรรสวยงาม น่ารัก แม้ผู้ใหญ่บางคนที่เห็น ก็อาจหยิบจับมาเล่น ลักษณะเมล็ดมีรูปกลมรีเหมือนไข่ สีแดงสด และที่ปลายขั้วเมล็ดมีจุดสีดำ เปลือกเป็นมันลื่น เมล็ดแก่จะแข็งกว่าเมล็ดอ่อน เด็กบางคนเก็บมาเล่น ทำเป็นเครื่องประดับ โดยเจาะเมล็ดให้เป็นรูแล้วร้อยเชือกทำเป็นสร้อยคอ

ตัวอย่างผู้ป่วย

เมล็ดมะกล่ำตาหนูมีความเป็นพิษทำให้
ทำให้เสียชีวิตได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่โดยเฉพาะเมล็ดที่ยังไม่แก่และมีเปลือกหุ้มอ่อนเพราะเปลือกหุ้มจะถูกทำ ให้แตกออกได้ง่ายใน ทางเดินอาหารมีรายงานการได้รับพิษของผู้ป่วยหลายราย เช่น
เด็ก 2 คนเคี้ยวเมล็ดมะกล่ำตาหนูแล้วเกิดพิษ มีอาการชัก ผิวหนังแดงเพราะเลือดสูบฉีด ( flushing of skin) รูม่านตาขยายกว้างมาก และประสาทหลอน รักษาโดยให้ยา neostigmine และ barbiturates แล้วอาการดีขึ้น (1)
เด็กอายุ 2 ปีในรัฐ Miami สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตเนื่องจากทานเมล็ดอ่อนนี้ไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี1961 และเกิดเหตุเช่นเดียวกันกับเด็กอีกคนใน Clearwater เมื่อเดือนตุลาคม ปี 1958 (1)
เด็กผู้หญิงอายุ 2 ปี ใน Astatula รับประทานเมล็ดมะกล่ำตาหนู แล้วทำให้เกิดอาการอักเสบของทานเดินอาหารนาน 4 วัน ภายหลังได้เสียชีวิตเนื่องจาก acidosis เมื่อปี 1949 (1)
เด็กชายสองคนอายุ 9 และ 12 ปี รับประทาน 1 เมล็ดหรือ มากกว่า มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน และมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเกิดขึ้นตามมา 1 สัปดาห์ ขณะที่เด็กคนหนึ่งยังคงมีเลือดออกทางทวารหนักนานต่อไปอีก 2-3 เดือน และในปี 1970 เดือนพฤษภาคม ก็เกิดอาการเดียวกันกับเด็กหญิงอายุ 14 ปีที่เคี้ยว และกลืนเมล็ดมะกล่ำตาหนูไป 4 เมล็ด (1)
มีบันทึกกรณีของผู้ใหญ่ที่ได้รับพิษในประเทศอินเดีย ที่เคี้ยวเมล็ดไปครึ่งเมล็ด แต่คายออกมาส่วนใหญ่ กลืนไปแค่ประมาณ 1 มิลลิกรัม แล้วเกิดอาการคลื่นไส้ภายใน 1 ชั่วโมง อาเจียนติดต่อกันอีก 20 ครั้งใน 6 ชั่วโมง และภายใน 12 ชั่วโมงก็มีอาการท้องเสีย ไม่มีแรง ยืนไม่ได้ เหงื่อออก เสียดท้อง อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว และมือสั่น ซึ่งเกิดอาการเหมือนกันกับนักเคมีคนหนึ่งที่เคี้ยวเมล็ด 1 เมล็ด และกัดอีกเมล็ดให้แตกออกพร้อมทั้งกลืนส่วนที่แตกเข้าไป แต่อาการยังไม่ปรากฏจนกว่าผ่านไป 8 ชั่วโมง เช่นเดียวกับนักพิษวิทยาชาวนิวยอร์กเกิดปฏิกิริยาเหมือนกันหลังจากกลืนเมล็ด มะกล่ำตาหนูขนาด ? เมล็ด ที่รู้จักเป็นอย่างดีมานานกว่า 5 ปี โดยเจตนา มีอาการป่วยเกิดขึ้นใน 36 ชั่วโมง และสิ้นสุดต่อมาใน 24 ชั่วโมง แต่ยังมีอาการเลือดไหลทางทวารหนักต่อไปอีก 2-3 วัน (1)
ในประเทศไทยจากวารสารทางการแพทย์ของรพ.ขอนแก่น ( KHON-KAEN Hospital Medical Journal ) รายงานการเกิดพิษของเด็กชายวัย 9 ขวบที่เผลอไปทานเมล็ดมะกล่ำตาหนูแล้วทำให้มีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง ปวดท้องอย่างรุนแรง ชักและหมดสติ แพทย์ได้ทำการรักษาตามอาการของคนไข้ซึ่งภายหลังการรักษา คนไข้มีอาการดีขึ้นเล็กน้อย แม้ในขณะนี้ คนไข้ยังคงมีปัญหาในการพูด และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ (3)
มีรายงานการพบพิษของผู้ป่วยหญิงอายุ 19 ปี ที่เสียชีวิตเนื่องจากใช้ของเหลวแช่เมล็ดมะกล่ำตาหนู ( jequirity infusion ) รักษาริดสีดวงตา (4) เนื่องจากมีตำรายาพื้นบ้านบางแห่งกล่าวถึงการแช่เมล็ดมะกล่ำตาหนู เพื่อใช้เตรียมทำยารักษาริดสีดวงตา และกระจกตาขุ่น ด้วยเหตุนี้ การได้รับพิษจากเมล็ดมะกล่ำตาหนูไม่ได้เกิดเฉพาะจากการทานเท่านั้น การสัมผัสทางดวงตาก็อาจเกิดขึ้นได้

สารที่ทำให้เกิดพิษ

ส่วนที่เป็นพิษมากที่สุด คือ เมล็ด พบสารพิษสำคัญ คือ abrin a-d เป็นสารกลุ่ม lectin ออกฤทธิ์โดยตรงต่อเซลล์พาเรนไคมาของตับและไต และเซลล์เม็ดเลือดแดง (5) โดยเข้าไปจับกับgalactosyl - terminated receptors ของเยื่อบุเซลล์ ออกฤทธิ์ยับยั้ง ribosome และการสังเคราะห์โปรตีน และทำให้เซลล์ตาย (6) นอกจากนี้ยังมีสารแอกกลูตินิน (Abrus agglutinin) ซึ่งพบได้ในสารสกัดน้ำของเมล็ดมะกล่ำตาหนู มีฤทธิ์ทำให้เม็ดเลือดแดงในเลือดคนจับกลุ่มกัน (hemagglutinin activity) abrin เป็นโปรตีนที่เป็นพิษมาก การได้รับสารพิษนี้เพียง 0.01 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็ทำให้เสียชีวิตได้ (4) ขนาดของสารพิษที่ฉีดเข้าภายในช่องท้อง และเข้าทางหลอดเลือดดำที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 0.02 มก (7) และ 0.7 มคก.(8) ต่อน้ำหนัก 1 ก.ก. ตามลำดับ อาการพิษที่เกิดกับสัตว์ ได้แก่ เบื่ออาหาร อาเจียนอย่างรุนแรง เซื่องซึม หนาวสั่น มักทำให้เกิดกระเพาะและลำไส้อักเสบสัตว์ (9)

อาการพิษ

ผู้ป่วยที่กลืนเมล็ดมะกล่ำตาหนูจะมีช่วงระยะแฝงหรือภาวะที่อาการพิษยังไม่กำเริบ (latent period) ระหว่าง 2-3 ชั่วโมง ถึง 2-3 วัน จากนั้นพิษของมะกล่ำตาหนูจะทำให้เกิดผลต่อระบบและอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายคน ได้แก่
ระบบหลอดเลือด พิษจากเมล็ดมะกล่ำตาหนูไม่มีผลโดยตรงต่อหัวใจ แต่อาจทำให้เกิดอาการช็อค ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นเร็ว หลังจากที่คนไข้อาเจียนและท้องเสียอยู่นาน
ระบบทางเดินหายใจ คนไข้อาจเกิดภาวะ cyanosis คือ เกิดการขาดเลือดหรือออกซิเจนจนทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่คนไข้มีความดันโลหิตต่ำ และช็อค
ระบบประสาทส่วนกลาง อาจมีอาการเซื่องซึม ชักกระตุก ประสาทหลอน และมือสั่น
ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ ฤทธิ์ระคายเคืองของสารพิษ abrin ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะและลำไส้อย่างรุนแรง ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย กลืนลำบาก และปวดเกร็งท้อง การคลื่นไส้ และอาเจียนมีสาเหตุโดยตรงมาจากการระคายเคืองของเยื่อบุเมือกในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้อาจไปทำลายเยื่อบุเมือกของลำไส้เล็กทำให้มีเลือดออกทางอุจจาระ (melaena) และ อาเจียนเป็นเลือด (haematemesis )ได้
ผลต่อตับ สารพิษมีฤทธิ์ไปทำลายเซลล์หรือเนื่อเยื่อของตับ ทำให้ระดับเอนไซม์ของตับในซีรัม เช่น แอสปาเตต ทรานเฟอเรส (AST) อะลานีน ทรานเฟอเรส (ALT) และ แลคติก ดีไฮโดรจีเนส (LDH) มีค่าสูงขึ้นอย่างชัดเจน ระดับบิริลูบินในซีรัมมีค่าเพิ่มขึ้นแสดงว่ากำลังเกิดบาดแผลภายในอวัยวะ นอกจากนี้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
ระบบปัสสาวะ อาการปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย อาจเป็นผลมาจากความดันโลหิตต่ำที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน แต่ก็อาจมีสาเหตุมาจากภาวะไตล้มเหลวเฉียบพลัน การอุดตันของหลอดปัสสาวะด้วยฮีโมโกลบินที่มาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ถูก ทำลาย อาจส่งเสริมให้ไตวาย
ระบบตา หู คอ จมูก อาจมีอาการเลือดออกในเรตินา (retina) เกิดขึ้น ในช่วงแรกที่ได้รับสารพิษ อาจทำให้การมองเห็นลดลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เรตินา หากตาโดนสารพิษจะทำให้เยื่อบุตาบวมและแดงมาก นอกจากนี้การกลืนพืชพิษลงไปอาจทำให้ระคายเคืองคอได้
ระบบเลือด สารแอกกลูตินินของมะกล่ำตาหนูออกฤทธิ์โดยตรงต่อเม็ดเลือดแดงทำให้โลหิตตกตะกอนและสลายตัว และอาจทำให้เกิดเลือดไหลในทางเดินอาหาร
ระบบเมทาบอลิซึม การอาเจียน ท้องเสีย และมีเลือดออก นำไปสู่ภาวะสูญเสียของน้ำและอิเลกโตรไลส์ ( Fluid and electrolyte disturbances ) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คนไข้ไม่รู้สึกตัว กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ และกล้ามเนื้อเป็นตะคริว ผลของการอาเจียนเป็นเวลานาน อาจทำให้มีภาวะด่างในร่างกายเพิ่มขึ้น (alkalosis) แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการถึงขั้นช็อค และไตวาย อาจทำให้มีภาวะกรดเพิ่มขึ้นได้แทน (acidosis) ซึ่งเป็นผลจากการรบกวนสมดุลของกรดเบสในร่างกาย ( Acid base disturbances ) การที่ร่างกายสูญเสียน้ำ ส่งผลเสียโดยตรงต่อไต ทำให้คนไข้ปัสสาวะได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตเนื่องจากเกิดภาวะยูรีเมีย (uremia*) ตามมา (10)
ทั้งหมดนี้เป็นอาการพิษของมะกล่ำตาหนูที่สามารถเกิดขึ้นได้ในคน แต่ความรุนแรงอาจเกิดมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น ขนาดที่รับประทาน สภาวะร่างกาย และอายุของผู้ได้รับพิษ อย่างไรก็ตาม หากคนไข้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เสียชีวิตได้

การรักษา

การช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีพึ่งรับประทานเมล็ดไปนานไม่ถึง 30 นาที ให้ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเพื่อเอาเมล็ดหรือชิ้นส่วนของพืชออกมา โดยรับประทานยาน้ำเชื่อม ipecac แต่คนไข้จะต้องไม่อยู่ในสภาวะที่ห้ามทำให้อาเจียน หรือมีอาการบวมของคอหอย จากนั้นให้เก็บเมล็ดหรือพืชส่วนอื่นๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไปหรือหากเป็นไปได้ให้เอาของเหลวที่ผู้ป่วยพึ่ง อาเจียนออกมาใส่ขวดโหลสะอาดเอาไปตรวจสอบว่าผู้ป่วยได้รับประทานพืชพิษชนิดใด (identification)
ถ้าไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยอาเจียนได้ ก็ให้ใช้วิธีการล้างท้องแทน แต่วิธีการล้างท้องอาจไม่ประสพความสำเร็จหากคนไข้กลืนเมล็ดขนาดใหญ่ ในการล้างท้องถ้าต้องใช้ stomach tube ควรระมัดระวัง เพราะอาจกระทบกระเทือนแผลในทางเดินอาหารที่ได้รับจากพิษของพืช และให้ bismuth subcarbonate หรือ magnesium trisilicateไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้แผลในทางเดินอาหารกว้างขึ้น จากนั้นจึงทำการรักษาประคับประคองผู้ป่วยตามอาการ
นำผลวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เช่น ปริมาณเลือด ข้อมูลของตับ ระดับอิเลกโตรไลส์ในกระแสเลือดปริมาณยูเรีย ครีอะตินินในเลือด และ ผลวิเคราะห์ปัสสาวะซึ่งอาจปรากฏว่ามีโปรตีน เซลล์เม็ดเลือดแดง ฮีโมลโกลบิน และ cast รวมทั้งการตรวจสอบอื่นๆตามสภาวะร่างกายของคนไข้มาใช้ประกอบการรักษา
คนไข้ที่เสียน้ำมาก เนื่องจากอาการถ่ายท้องและอาเจียน จึงควรให้พวก electrolyte และติดตามระดับอิเลกโตรไลส์ในกระแสเลือด แก้ไขภาวะ metabolic acidosis หากมีอาการเกิดขึ้น การสูญเสียน้ำอาจทำให้เกิดอาการช็อคที่มาจากการขาดเลือดร่วมกับมีความดัน โลหิตต่ำ ถ้ารักษาโดยให ้ของเหลวทางหลอดเลือดไม่ได้ผล ให้ทำ insert a central venous pressure line และให้พลาสมา หรือเดกซ์เทรน (dextran) เพื่อไปขยายปริมาตร ภายในหลอดเลือด แต่ถ้าความดันโลหิตยังมีค่าต่ำอยู่ อาจพิจารณาให้โดปามีน (dopamine)หรือ โดบูทามีน (dobutamine) ทางหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง (a continuous infusion) ภายหลังการให้ของเหลวทดแทนแล้วผู้ป่วยยังไม่ขับปัสสาวะออก อาจพิจารณาให้ทำไดอะไลซิส (dialysis)
แม้ว่ายังไม่เคยมีรายงานกรณีที่คนไข้มีอาการของการสลายตัวของเลือดอย่างรุนแรง (haemolysis) อย่างไรก็ตามหากปรากฏอาการ ก็ให้ของเหลวที่เป็นด่าง เพื่อรักษาระดับของ urine output ให้มีค่ามากกว่า 100 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง ถ้าไตของคนไข้ยังทำงานของไตได้ปกติอยู่
คนไข้ที่มีอาการชัก ให้ยาต้านอาการชัก เช่น ไดอะซีแพม (diazepam) ในกรณีผู้ป่วยเด็กฉุกเฉิน อาจให้ไดอะซีแพมชนิดเหน็บทวาร ยาบรรเทาอาการระคายคอ (demulcent) อาจช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองของกระเพาะอาหารและคอหอยได้ นอกจากนี้ก็ให้อาหารแป้งกับผู้ป่วย เพื่อช่วยป้องกันการเกิดอาการพิษต่อตับ และควรให้ความเย็นแก่คนไข้ไม่ทำให้คนไข้รู้สึกร้อน เพราะอากาศร้อนจะยิ่งทำให้คนไข้มีอาการพิษเพิ่มขึ้น
ในกรณีที่ผู้ป่วยพึ่งกลืนเมล็ดแก่ของมะกล่ำตาหนู ที่แห้ง แข็งโดยไม่ได้เคี้ยว เมล็ดจะผ่านเข้าไปในลำไส้และออกมาโดยไม่ทำอันตราย ดังนั้นจึงอาจให้คนไข้ทานยาระบายเพื่อไปเร่งการขับออกของลำไส้ ( intestinal transit ) แต่ห้ามใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการพิษเกิดขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้คนไข้ท้องเสียอย่างรุนแรง และสูญเสียน้ำมากขึ้น
หากตาของคนไข้สัมผัสพิษ ให้ล้างตาด้วยน้ำหรือน้ำเกลือในปริมาณมาก เคยมีรายงาน การใช้ แอนตี-ซีรัมที่จำหน่ายภายใต้ชื่อว่า anti-abrin หรือ jequiritol แต่ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านพิษต่อเมล็ดมะกล่ำตาหนูโดยเฉพาะ (10,11)

จากรายงาน พิษส่วนใหญ่ ปริมาณของเมล็ดมะกล่ำตาหนูที่กลืนเข้าไปจะเป็นขนาดที่ทำให้เกิดพิษถึงขั้น เสียชีวิตได้ในเด็ก ด้วยเหตุนี้ ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองจึงควรแนะนำและสอนลูกหลานไม่ให้เล่นเมล็ดของพืชชนิดนี้ ส่วนเด็กที่โตแล้วก็สอนให้รู้อันตรายของการทานพืชพิษชนิดนี้ หากมีเมล็ดหรือสร้อยคอที่ทำจากเมล็ดของพืชชนิดนี้อยู่ก็ควรเก็บให้ห่างไกล เด็ก และเนื่องจากมะกล่ำตาหนูเป็นไม้เถาต้นเตี้ย จึงไม่ควรปลูกพืชชนิดนี้ไว้ภายในบ้านเพื่อป้องกันมิให้เด็กซุกซนไปเล่น

ไม่มีความคิดเห็น: