วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พืชมีพิษ หงอนไก่

หงอนไก่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cnestis palala (Lour.) Merr. ssp. Palala
ชื่อพ้อง : C. ramiflora Griff., Thysanus palala Lour.
ชื่อวงศ์ : Connaraceae
ชื่ออื่นๆ : มะตายวาย มะสักหลาด (ลำปาง) กะลิงปริงป่า (ราชบุรี) มะตายทากลาก หมาตายไม่ต้องลาก (ชลบุรี) หงอนไก่ป่า (กลาง) หงอนไก่หนวย หมาแดง (ใต้) หมาตายซาก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ยาวได้ถึง 10 ม. กิ่งก้านมีขนนุ่มหนาแน่น ผิวใบเรียบหรือมีขนสั้นๆ ที่เส้นใบ ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบหรือกิ่งก้าน กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ผลเป็นฝักตรง มีเมล็ด รูปวงรีครึ่งหนึ่ง สีดำ อีกครึ่งสีเหลืองนวลอยู่ในฝัก (1)


มีผู้รายงานความเป็นพิษเมื่อเด็กนักเรียนรับประทานเมล็ดเข้าไป

ตัวอย่างผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธุ์ 2544 ทางสำนักงานข้อมูลสมุนไพร ได้รับแจ้งจากศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ว่าเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธุ์ 2544 ที่โรงพยาบาล ตะกั่วป่า จังหวัดพังงามีผู้รับประทานเมล็ดหงอนไก่เป็นเด็กนักเรียนอายุ 9-14 ปี จำนวน 13 คน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เมล็ดเบื่อหมา หลังจากนั้นประมาณ 10 กว่าชั่วโมง นักเรียนส่วนใหญ่มีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ในจำนวนนี้ 4 ราย ต้องรับไว้รักษาใน โรงพยาบาล (2)

สารที่ทำให้เกิดพิษ

สารที่ทำให้เกิดพิษในเมล็ดเป็นสารกลุ่มโปรตีด (proteids) ได้แก่ แอล-เมทิโอนีน ซัลโฟซิมีน (L - methionine sulfoximine) นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มโปรตีด ที่ลำต้นและรากด้วย (3)

แอล-เมทิโอนีน ซัลโฟซิมีน
(L - methionine sulfoximine)

การทดสอบความเป็นพิษ

- เมื่อนำเมล็ดสดบดผสมกับอาหารให้สุนัขกิน พบว่าขนาดที่ทำให้เกิด อาการอาเจียน ชัก หายใจลึกและถี่ผิดปกติและตายภายใน 24 ชั่วโมง คือ ขนาด 347 มก./ กก. (3)

อาการพิษ

ขนาดรับประทาน 20 เม็ด มีอาการรุนแรงมาก ได้แก่ อาการชักเกร็ง กระตุก ตาค้าง ปัสสาวะราด หลังชักไม่รู้ตัว รับประทาน 7-10 เม็ด มีอาการเวียนศีรษะ ตาลาย คลื่นไส้อาเจียน ขนาดรับประทาน 1/2-3 เม็ด มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ไม่อาเจียน บางราย ปวดท้องและบางรายไม่มีอาการ พบว่าความรุนแรงของพิษจากเมล็ดหงอนไก่ ขึ้นกับขนาดที่รับประทาน (2)

การรักษา

สังเกตอาการและวัดอัตราการเต้นของหัวใจ จำนวนครั้งของการหายใจ เจาะเลือดตรวจค่าอิเล็คโตรไลท์ ให้น้ำเกลือและฉีดไดอะซีแพม (diazepam) ทางหลอดเลือดดำในรายที่มีอาการชักร่วมด้วย และนอนรักษาที่โรงพยาบาล กรณีที่รับประทานเมล็ดจำนวนน้อย ควรสังเกตอาการก่อนถ้าไม่พบอาการ จึงให้กลับบ้าน (2)

ไม่มีความคิดเห็น: