วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พืชมีพิษ เนียง

เนียง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Archidendron jiringa Nielsen
ชื่อพ้อง : Pithecellobium lobatum Benth.,
P. jirniga (Jack) Prain ex King
วงศ์ : Fabaceae
ชื่ออื่นๆ : ขาวแดง คะเนียง ชะเนียง ชะเอียง เจ็งโกล ตานิงิน เนียง เนียงใหญ่ เนียงนก ผักหละต้น พะเนียง มะเนียง มะเนียงหย่อง ยิริงหรือยือริง ยินิกิง หย่อง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เนียงเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-15 ม. เปลือกต้นสีเทาหรือน้ำตาลอ่อนปนเทา เรือนยอดเป็นพุ่มกลมใหญ่ ดอกสีขาว ขนาดเล็ก ออกเป็นช่อ ผลเป็นฝักแบนเป็นเกลียวไปทางเดียวกัน คล้ายรูปเกือกม้า ผิวสีน้ำตาลคล้ำหรือน้ำตาลอมม่วง เมล็ดมีลักษณะ คล้ายเมล็ดถั่ว 2 ฝา

กริ๊ง…กริ๊ง…กริ๊ง “ ฮัลโหล…ฮัลโหล ” “ โทรจากศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาค่ะ ” เมื่อต้นเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เราได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วยชาวกะเหรี่ยงหลายคนมารักษาที่ รพ.ตาก ด้วยอาการปัสสาวะเป็นเลือด ไตวาย ซักประวัติได้ว่ารับประทานข้าวกับลูกเนียงดิบติดต่อกันหลายวัน ทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์เช่นนี้อีกหลายรายที่มีอาการพิษจากการรับประทานลูกเนียง

จริงๆ แล้วลูกเนียงหรือเมล็ดเนียง เป็นผักที่ นิยมรับประทานกัน โดยเฉพาะทางภาคใต้ของไทย เรา ซึ่งนิยมรับประทานเป็นผักสด ใช้ลูกอ่อนปอก เปลือกจิ้มน้ำพริก หรือรับประทานร่วมกับอาหารรส เผ็ด หรือบริโภคลูกเนียงเพาะ (นำลูกเนียงไปเพาะในฟางจนต้นอ่อนงอก) ลูกเนียงดอง หรือทำให้สุก โดยต้มหรือย่าง ลูกเนียงนับเป็นผักที่มีคุณค่าทาง อาหาร คือ มีโปรตีน 7.9 กรัม % คาร์โบไฮเดรท 36.2 กรัม % ไขมัน 0.2 กรัม % วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี กรดโฟลิค และแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก มีกรดอะมิโน 18 ชนิด และมี กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทั้ง 8 ชนิด โดย ทั่วไปคนส่วนมากรับประทานลูกเนียงแล้วมักไม่เกิด อาการผิดปกติใดๆ มีบางคนเท่านั้นที่รับประทานลูก เนียงแล้วเกิดอาการพิษ แม้แต่ในสัตว์ทดลองก็ให้ผล ผลแตกต่างกัน เช่น ในรายงานการวิจัยของ มงคล โมกขะสมิต ให้สุนัขกินลูกเนียงดิบ 8-9 ลูก/วัน พบ ว่าสุนัขมีปริมาณปัสสาวะ 24 ชม. ลดลงเล็กน้อย และไม่มีความเป็นพิษต่อไตของสุนัขเลย

สารที่ก่อให้เกิดอาการพิษ

สารที่ก่อให้เกิดอาการพิษในลูกเนียง คือ djenkolic acid (กรดเจ็งโคลิค) ในลูกเนียง 1 กรัม จะมีกรดเจ็งโคลิค 15.86 ? 6.6 มก. ประมาณ 93 % ของกรดอยู่ในสภาพอิสระ และมีเพียง 7 % เท่านั้นที่รวมตัวกับโปรตีน สุวิทย์ อารีกุล และคณะ ได้กรอกหรือฉีดกรดเจ็งโคลิคในหนูถีบจักร พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของปัสสาวะ และพยาธิสภาพของไตเหมือนหนูถีบจักรที่ถูกกรอก ด้วย สารสกัดจากลูกเนียง

อาการเป็นพิษที่พบ

มักเกิดอาการภายใน 2-14 ชม. ภายหลังรับประทาน เริ่มด้วยมีอาการปวดตามบริเวณขาหนีบ ปัสสาวะลำบาก ปวดปัสสาวะมาก บางรายไม่มีปัสสาวะ (anuria) ปัสสาวะขุ่นข้น บางคราวปัสสาวะเป็นเลือด บางรายมีอาการปวดท้องแบบ colic ปวดท้องน้อย และปวดหลัง อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตสูง
จากรายงานการศึกษาความเป็นพิษของลูกเนียงของ สุวิทย์ อารีกุล และคณะ กรอกสารละลายของลูกเนียงที่สกัดด้วย 70 % เอทานอล ความเข้มข้น 100 ก./100 ซีซี (มีกรดเจ็งโคลิคประมาณ 5 มก./ซีซี) ในหนูถีบจักร 22 ตัวๆละ 1 ซีซี หนูขาว 9 ตัวๆละ 6 ซีซี และลิงวอก 5 ตัวๆละ 15 ซีซี พบว่าปริมาณปัสสาวะในสัตว์ทดลองทั้ง 3 ชนิดลดลง ปัสสาวะขุ่นข้น มีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว epithelial cell , albumin และ amorphous particles เพิ่มขึ้นกว่าปกติ ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะของลิงลดลง ปัสสาวะของหนูถีบจักรตัวหนึ่งมีผลึกรูปเข็มจำนวนมากในวันที่ 3 ภายหลังได้สารสกัด ผลการตรวจชิ้นเนื้อในสัตว์ทดลอง พบว่าเกิด acute tubular necrosis และมีบางส่วนของ glomeruli cell necrosis ร่วมด้วย และมีผู้ศึกษาความเป็นพิษของลูกเนียง พบว่าเป็นพิษต่อไต


ตัวอย่างผู้ป่วย

ตัวอย่างที่ 1 ชายท่านหนึ่ง จม.ถามมาที่สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มีประวัติว่ารับประทานลูกเนียงเข้าไปประมาณ 10 ลูก มีอาการปัสสาวะไม่ค่อยออก ปวดท้องน้อยและหลัง แต่หลังจากนอนพัก 4-5 วัน อาการก็หายไป
ตัวอย่างที่ 2-8 เป็นรายงานผู้ป่วยฝ่ายอายุรกรรม รพ.ยะลา ตั้งแต่ปี 2525-2528 โดย ยุทธิชัย เกษตรเจริญ และคณะ
ตัวอย่างที่ 2 ผู้ป่วยชาย อายุ 32 ปี รับประทานลูกเนียง มีอาการปัสสาวะไม่ออก และปวดท้องน้อยร้าวไปข้างหลัง ผลตรวจ vital sign และผลตรวจเลือดปกติ ผลตรวจปัสสาวะพบ ความถ่วงจำเพาะ 1.007 , albumin 1+ , RBC 300 cell/HP2 , BUN / Cr 10 / 1.7 , plain KUB ปกติ ได้รับการรักษาโดยให้น้ำเกลือ , NaHCO3 และ lasix ทางหลอดเลือด และสวนปัสสาวะ พักรักษาอยู่ รพ. 3 วัน จึงกลับบ้านได้
ตัวอย่างที่ 3 ผู้ป่วยหญิงอายุ 44 ปี รับประทานลูกเนียง 10+ ลูก มีอาการปัสสาวะไม่ออก และปวดท้องน้อยร้าวไปข้างหลัง ผลตรวจ vital sign และผลตรวจเลือดปกติ ผลตรวจปัสสาวะพบ ความถ่วงจำเพาะ 1.013 , albumin 1+ , RBC 300 cell/HP2 , BUN / Cr 14 / 1.0 , plain KUB ปกติ ได้รับการรักษาโดยให้น้ำเกลือ , NaHCO3 และ lasix ทางหลอดเลือด ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ และโซดา-มินต์
ตัวอย่างที่ 4 ผู้ป่วยชาย อายุ 24 ปี รับประทานลูกเนียง มีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย มีเลือดปน และปวดท้องน้อยร้าวไปข้างหลัง ผลตรวจ vital sign และผลตรวจเลือดปกติ ผลตรวจปัสสาวะพบ ความถ่วงจำเพาะ 1.013 , albumin 1+ , RBC 150-200 cell/HP2 , WBC 4-7 cell/HP2 , BUN / Cr 33 / 3.3 , plain KUB ปกติ ได้รับการรักษาโดยให้น้ำเกลือ และ lasix ทางหลอดเลือด ให้ยาคลายกล้ามเนื้อเข้ากล้าม และยาปฏิชีวนะ พักรักษาอยู่ รพ. 5 วัน จึงกลับบ้านได้
ตัวอย่างที่ 5 ผู้ป่วยชาย อายุ 45 ปี รับประทานลูกเนียงมาก มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะมีเลือดปน และปวดที่หัวหน่าวร้าวไปหลัง ผลตรวจ vital sign และผลตรวจเลือดปกติ ผลตรวจปัสสาวะพบ ความถ่วงจำเพาะ 1.030 , albumin 4+ , RBC 50-100 cell/HP2 , plain KUB ปกติ ได้รับการรักษาโดยสวนปัสสาวะที่ห้องฉุกเฉิน ได้ปัสสาวะ 2-3 ลบ.ซม. ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาปฏิชีวนะ และโซดามินต์
ตัวอย่างที่ 6 ผู้ป่วยหญิง อายุ 45 ปี รับประทานลูกเนียง มีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย และปวดที่ท้องน้อย ผลตรวจเลือดปกติ ความดันโลหิตสูง ผลตรวจปัสสาวะพบ ความถ่วงจำเพาะ 1.020, RBC 100-150 cell/HP2 ได้รับการรักษาโดยให้ lasix ทางหลอดเลือด ยาคลายกล้ามเนื้อเข้ากล้าม และยาลดความดันโลหิต พักรักษาอยู่ รพ. 3 วัน จึงกลับบ้านได้
ตัวอย่างที่ 7 ผู้ป่วยชาย อายุ 44 ปี รับประทานลูกเนียง มีอาการปัสสาวะไม่ออก ผลตรวจ vital sign และผลตรวจเลือดปกติ ผลตรวจปัสสาวะพบ ความถ่วงจำเพาะ 1.030 , albumin 1+ , RBC 0 cell/HP2 , WBC 3-5 cell/HP2 , cast : granular ได้รับการรักษาโดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และยาคลายกล้ามเนื้อ พักรักษาอยู่ รพ. 2 วัน จึงกลับบ้านได้
ตัวอย่างที่ 8 ผู้ป่วยชาย อายุ 14 ปี รับประทานลูกเนียงสด 10 ลูก มีอาการปัสสาวะไม่ค่อยออกมา 4 วัน ปัสสาวะขัด ปวดที่ท้องน้อยและกลางหลังมาก ต่อมาไม่มีปัสสาวะเลย และปวดที่กลางหลังมากขึ้น ผลตรวจ vital sign และผลตรวจเลือดปกติ ปวดและกดเจ็บที่บริเวณ costovertebral angle ทั้ง 2 ข้าง มี anuria , BUN / Cr สูง (82 / 9.0) มีอาการ uremia (ท้องอืด คลื่นไส้ และอาเจียน) ได้ทำ peritonial dialysis ภายหลังทำ 4-5 dialysates ผู้ป่วยปัสสาวะดี สังเกตอาการระยะหนึ่งเห็นว่าปัสสาวะยังออกดี จึงหยุดการ dialysis หลังทำ peritoneal dialysis ตรวจปัสสาวะพบ ความถ่วงจำเพาะ 1.008 , RBC 5-10 cell/HP2 , WBC 10-20 cell/HP2 , BUN / Cr 73 / 8.3 – 12 / 0.9 ภายในเวลา 4 วัน , plain KUB ปกติ ได้รับการรักษาแบบ acute renal failure ให้โซดามินต์ทางปาก และ NaHCO3 ทางหลอดเลือด 100-150 มก. พักรักษาอยู่ รพ. 8 วัน จึงกลับบ้านได้
ตัวอย่างที่ 9 จากรายงานของ นพ. สุวิทย์ อารีกุล พบผู้ป่วยชาย อายุ 38 ปี ให้ประวัติว่ารับ-ประทานลูกเนียงเผา 3 ลูก ตอนเที่ยง ประมาณ 5 ทุ่ม ถ่ายปัสสาวะขุ่นข้นและขาวเหมือนน้ำนม ต่อมาปัสสาวะเป็นเลือด ปวดท้องและปวดหลังอย่างรุนแรง ผู้ป่วยให้ประวัติว่าเคยรับประทานลูกเนียงมาหลายครั้งแล้ว ไม่เคยมีอาการเช่นนี้มาก่อน ทุกคนในครอบครัวรับประทานลูกเนียงด้วยกันในตอนกลางวันแต่ปกติดีทุกคน ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลในตอนเช้า ปัสสาวะออกน้อยและปวดมาก เวลาเบ่งปัสสาวะมีเหงื่อออกมาก แต่ไม่มีไข้ ปวดท้องมากเป็นพักๆ เมื่อฉีดมอร์ฟีนอาการปวดทุเลาลง ผู้ป่วยอาเจียนและท้องเดิน ปัสสาวะมีปริมาณปกติ แต่มีเลือดออกมาด้วย อาการต่างๆค่อยดีขึ้นในวันที่ 2 ที่อยู่ รพ. แต่ยังปัสสาวะมีเลือดออกอีกนานถึง 6 วัน จึงกลับบ้านได้

การรักษา

ยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะ ส่วนใหญ่ใช้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ
1. ดื่มน้ำมากๆ เพื่อจะได้ละลายผลึกที่ตกค้าง และขับออกมาทางท่อปัสสาวะ
2. รักษาตามอาการ ถ้าปวดมากให้ยาคลายกล้ามเนื้อ
3. ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง โดยให้รับประทานโซดามินต์ หรือให้ NaHCO3 ทางหลอดเลือด เพราะผลึกของกรดเจ็งโคลิคละลายได้ดีในสารละลายที่เป็นด่าง นพ. ยุทธิชัย เกษตรเจริญ และคณะ ได้สรุปรายงานการรักษาว่า ถ้าใช้การรับประทานแต่โซดามินต์อย่างเดียวจะไม่สะดวก เพราะต้องรับประทานในขนาด 32 มก./วัน จึงจะเปลี่ยน pH ของปัสสาวะตามต้องการได้ ดังนั้นอาจให้ NaHCO3 100 มล. ทางหลอดเลือด และโซดามินต์ทางปาก 3 เม็ด 4 เวลา มักได้ผลภายในเวลาประมาณ 4-12 ชม.
4. ตรวจ BUN และ Creatinine เพื่อประกอบการพิจารณาทำ dialysis ถ้าจำเป็น
5. การพิจารณาทำ plain KUB และ IVP ควรพิจารณาเป็นรายๆไป
การให้ยาขับปัสสาวะ นพ.ยุทธิชัย เกษตรเจริญ และคณะ รายงานว่าไม่ค่อยแน่ใจในเรื่องประโยชน์ เนื่องจากทดลองในผู้ป่วย 2 ราย โดยให้ lasix ทางหลอดเลือด 20-80 มก. พบว่าทำให้ปวดหลังมากขึ้น และจากการที่กรดเจ็งโคลิคทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วในไต การให้ lasix อาจเป็นผลเสียมากกว่าดี

การลดพิษของลูกเนียง

1. การลดพิษแบบชาวบ้าน ทำง่ายๆ 2 วิธี คือ
1.1 เอาลูกเนียงมาผ่าแล้วแผ่เป็นแผ่นบางๆ ตากแดดก่อนรับประทาน
1.2 เอาลูกเนียงฝังทรายจนกระทั่งมีหน่อ ตัดหน่อทิ้งแล้วจึงรับประทาน
2. จากการศึกษาของ สุวิทย์ อารีกุล และคณะ พบว่า ต้มลูกเนียงในน้ำ หรือ 5 % HCl หรือ
5 % NaHCO3 (โซเดียมไบคาร์บอเนต) นาน 10 นาที กรดเจ็งโคลิคในลูกเนียงจะเหลือ 30-32 % ถ้าต้มต่อไปใน 5 % NaHCO3 อีก 10 นาที กรดเจ็งโคลิคในลูกเนียงจะเหลือ 14 %
ดังนั้น ผู้ที่จะรับประทานลูกเนียง ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีอาการพิษมาก่อนก็ตาม ถ้าจะให้ปลอดภัยก็น่าจะทำการลดพิษของลูกเนียงลงก่อนที่จะรับประทาน

ไม่มีความคิดเห็น: