วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พืชมีพิษ ว่านนางกวัก

ว่านนางกวัก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Alocasia cucullata (Lour.) G. Don f.
วงศ์ Araceae

ชื่อพ้อง -
ชื่ออื่นๆ -
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ว่านนางกวัก เป็นพืชที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบมีรูปร่างคล้ายรูปหัวใจ ก้านใบกลมคล้ายใบบอน ในสรรพคุณพื้นบ้านของจีน ใช้แก้พิษงู (1) ส่วนเหนือดิน ใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอ (2) ทั้งต้น ใช้แก้โรคปวดข้อ (3)






ตัวอย่างผู้ป่วย

มีรายงานพบผู้ป่วยจากการรับประทานว่านนางกวักโดยเข้าใจผิดว่าเป็นต้นบอน
มีอาการปวดแสบ ปวดร้อนที่คอ ลิ้น และบริเวณภายในกระพุ้งแก้ม ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แพทย์ได้ทำการล้างท้อง งดน้ำและอาหาร ให้ยาเคลือบกระเพาะ และรักษาตามอาการจนกระทั่งผู้ป่วยอาการดีขึ้น (4)
ในประเทศศรีลังกา มีเด็ก 2 คน เสียชีวิตจากการรับประทานผลของว่านนางกวัก ซึ่งอาการพิษที่พบคล้ายคลึงกับพิษจากสาร cyanogenic glycoside (5)

สารที่ทำให้เกิดพิษและอาการพิษ

จากการศึกษาลักษณะผงของว่านนางกวักภายใต้กล้องจุลทัศน์ พบว่ามีผลึกแคลเซียมออกซาเลท กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป (4) พืชในวงศ์ Araceae จะพบว่ามีผลึกแคลเซียมออกซาเลทสูง แคลเซียมออก-ซาเลท จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน อักเสบ บวม และพองเป็นตุ่มน้ำใส หากถูกตาจะทำลายเยื่อบุตา ถ้ารับประทานเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปากและคอ เสียงแหบ น้ำลายไหล อาเจียน แสบร้อนผิวหนังที่สัมผัส เยื่อบุกระพุ้งแก้ม ลิ้น และเพดานปากบวม พอง บางรายอาจพูดลำบาก ไม่มีเสียง อาการที่รุนแรงมากคือ กลืนลำบากถึงกลืนไม่ได้ อาจทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบรุนแรงได้ (6)

การรักษา

- หากสัมผัสถูกผิวหนัง ให้ใช้น้ำชะล้างหลายๆ ครั้ง แล้วทาด้วยครีมสเตียรอยด์และรับประทานยาสเตียรอยด์
- หากเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำหลายๆ ครั้ง หยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ แล้วนำส่ง โรงพยาบาลโดยเร็ว
- ถ้ารับประทานเข้าไป ให้ใช้น้ำล้างในปากและคอ แล้วรักษาตามอาการ อาจให้ยาลดกรด aluminium-magnesium hydroxide ทุก 2 ชั่วโมง ให้ยาแก้ปวด ให้ยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ

ไม่มีความคิดเห็น: