ชื่อวิทยาศาสตร์ Hura crepitans L.
วงศ์ Euphorbiaceae
ชื่อท้องถิ่น โพธิ์อินเดีย โพธิ์หนาม โพธิ์ศรีมหาโพธิ์ โพธิ์ทะเล โพธิ์ฝรั่ง ทองหลางฝรั่ง sand box tree, monkey pistol, portia tree, umbrella tree, monkey’s dinner bell
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ มีใบเดี่ยวลักษณะคล้ายใบโพธิ์ ลำต้น กิ่งก้านมีหนาม มียางใส ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้มีสีแดงเข้มเป็นช่อดอกยาว ดอกตัวเมียเป็นรูปเห็ดเล็กๆ ผลเป็นเปลือกแข็ง กลมแป้นคล้ายผลฟักทอง ภายในบรรจุด้วย เมล็ด ซึ่งมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วปากอ้า ในสมัยก่อนมีการนำผล ที่ยัง ไม่สุกมาต้ม เจาะรู ตากให้แห้ง บรรจุทรายไว้ในผล ใช้สำหรับซับหมึกจากปากกา เป็นที่มาของชื่อ sand box tree (2-4)
เนื่องจากโพธิ์ศรีมีผลซึ่งมีลักษณะสวยงามและดึงดูดสายตา ประกอบกับมีเมล็ดซึ่งมีรูปร่างลักษณะ คล้ายกับเมล็ดถั่วปากอ้าที่ใช้บริโภค ทำให้บ่อยครั้งมีเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ ์นำไป รับประทานและเกิดอาการพิษ และด้วยความที่เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากภูมิภาคอื่น ทำให้ประชาชน โดยทั่วไปไม่ทราบถึงอันตรายจากการสัมผัสและรับประทานยางหรือเมล็ดของพืชชนิด นี้เข้าไป จึง สมควรที่จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกัน
ตัวอย่างผู้ป่วย
รายงานความเป็นพิษของโพธิ์ศรีที่โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม อ. เมือง จ. นนทบุรี โดยนักเรียนชาย 18 คน อายุระหว่าง 12-15 ปี ได้เก็บเมล็ดแห้งมารับประทาน พบว่าเริ่มมีอาการตั้งแต่ 30 นาที ถึง 2 ชม. มีเพียงรายเดียวที่มีอาการเมื่อผ่านไป 6 ชม. โดยผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนในคอกระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีอาการปวดท้อง และอุจจาระร่วง แต่ในวันรุ่งขึ้นอาการก็หายไป (5)
รายงานความเป็นพิษของโพธิ์ศรีที่โรงเรียนโพหัก วงศ์สมบูรณ์อุปถัมภ์ มีผู้ป่วย 23 ราย รับประทานเมล็ดเข้าไป ผู้ที่รับประทานสูงสุดคือ 3 เมล็ด มีอาการแสบร้อนคอ ปวดท้อง ง่วงนอน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน ถ่ายเหลว และตาแดง (6)
รายงานความเป็นพิษของโพธิ์ศรีในปี 2517 เหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมืองไมอามี รัฐฟลอลิดา เด็กชายกลุ่มหนึ่งมีอาการคลื่นไส้และท้องร่วงหลังจากรับประทานเมล็ดโพธิ์ศรีเข้าไป (3)
รายงานความเป็นพิษของโพธิ์ศรีในปี 2517 เหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมืองไมอามี รัฐฟลอลิดาเช่นเดียวกัน แต่เป็นเด็กหญิงจำนวน 12 คน ซึ่งได้ทดลองรับประทานเมล็ดโพธิ์ศรีที่เก็บได้ จากคำบอกเล่าต่อๆ กันว่ามีรสชาดคล้ายกับวอลนัท ในจำนวนนั้นเด็กหญิงหนึ่งรายป่วย อีกสองรายมีอาการมีอากาคลื่นไส้ ส่วน 10 รายที่เหลือไม่พบอาการพิษใดๆ เนื่องจากรับประทานในจำนวนน้อย (3)
รายงานความเป็นพิษที่เกิดเนื่องจากการสัมผัส โดยสตรีชาวเยอรมัน อายุ 36 ปี ซึ่งมีอาการบวมแดงที่ผิวหนัง และมีอาการอักเสบของเยื่อบุจมูกและตาตลอดทั้งปีโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จากการตรวจสอบทางคลินิกพบว่าอาการดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวพันกับการบริโภค อาหาร อาหารเสริม ยา หรือ ฝุ่นละอองใดๆ ทั้งสิ้น แต่สันนิษฐานว่าอาการแพ้ดังกล่าวนั้นมีสาเหตุมาจากการสัมผัสต้นโพธิ์ศรีที่ ปลูกในที่พักของผู้ป่วย และเมื่อทำการตรวจสอบด้วยวิธี scratch test พบว่าผู้ป่วยเกิดอาการแพ้เนื่องจากการสัมผัสถูกยางต้นโพธิ์ศรีจริงๆ จากรายงานพบว่าอาการแพ้เกิดขึ้นเนื่องจากการสัมผัสยางสดของต้นโพธิ์ศรี (7)
สารที่ทำให้เกิดพิษ
ในเมล็ดของโพธิ์ศรีประกอบด้วยน้ำมันซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยาถ่าย และโปรตีนซึ่งมีพิษ มีชื่อว่า ฮูริน (hurin) หรือ เครพพิติน (crepitin) เมื่อกินเมล็ดโพธิ์ศรีเข้าไป 1-2 เมล็ด จะทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และท้องร่วง (อาจมีเลือดปนออกมา) ปวดท้อง ชีพจรเต้นเร็ว ตาพร่า ในรายที่ได้รับสารพิษในปริมาณสูงๆ อาจทำให้เพ้อ ชัก หมดสติและอาจถึงตายได้ (2-9) ในประเทศชวามีการนำเอาเมล็ดมาย่างไฟเล็กน้อย หรือเอามาโขลกกับน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นเม็ดใช้รับประทานเป็นยาระบาย (4)
น้ำยางมีส่วนประกอบของสารฮูริน และเอนไซม์ฮูเรน (Hurain) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ย่อยโปรตีน ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้เมื่อสัมผัสถูกผิว โดยเกิดอาการเป็นผื่นแดงแบบไฟลามทุ่ง และพุพองขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส เมื่อเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ (3-4,7) ในประเทศเปรูมีการใช้ยางเพื่อเบื่อปลา (10)
อาการพิษ
- สำหรับการรักษาอาการพิษจากการบริโภคหรือสัมผัสเมล็ดหรือยางจากส่วนต่างๆ ของต้นโพธิ์ศรี พบว่าส่วนใหญ่จะมีอาการแสบร้อนในลำคอ ปวดท้อง กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย (2-6, 8-9)
- สำหรับในรายที่แพ้เนื่องจากการสัมผัสถูกยาง หรือน้ำจากส่วนต่างๆ ของพืช จะมีอาการอักเสบบวมแดง ที่ผิวหนัง เป็นผื่นแดงแบบไฟลามทุ่ง และพุพองขึ้นเป็นตุ่มน้ำใส หากน้ำยางเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ (3-4,7)
แพทย์ที่ทำการรักษาจะให้การรักษาตามอาการ เนื่องจากเมื่อหยุดการสัมผัสหรือการบริโภคอาการ จะ ค่อยๆ ทุเลาเอง ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ให้ระวังการสูญเสียเกลือแร่ ให้ dextrose infusion เมื่อเกิดภาวะ hypoglycemia (2,5-6)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น