วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความรู้สึกของการสูญเสียลูก


การสูญเสียลูกน้อยในช่วง 24 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์เรียกว่าการแท้ง เป็นการสูญเสียอันเลวร้ายที่ยากจะทำใจยอมรับได้ และซ้ำร้ายที่ประมาณหนึ่งในเจ็ดของการตั้งครรภ์จบลงด้วยการแท้ง เป็นเหตุการณ์อันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นบ่อยเกินไป ถึงแม้ว่าหญิงตั้งครรภ์บางรายอาจแท้งบุตรในระยะท้ายๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการแท้งจะเกิดขึ้นภายในช่วง 13 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์


สาเหตุของการแท้งคืออะไร


โดยปกติ การแท้งในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของทารกในครรภ์ ส่วนการแท้งในระยะท้ายๆ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ความผิดปกติของรกหรือมดลูก หรือปากมดลูกอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ทราบสาเหตุของการแท้งที่แน่ชัด
การตรวจครรภ์ ทั้งสองวิธีที่ใช้สำหรับตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ ( การเจาะตรวจน้ำคร่ำและการเจาะตรวจรก : Amniocentesis and Chorionic Villus Sampling) อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแท้งได้ด้วยเช่นกัน หากคุณได้รับการแนะนำให้เข้ารับการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนี้ แพทย์จะอธิบายความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการตรวจทั้งสองชนิดอย่างชัดเจน



สัญญาณของการแท้งบุตร


หญิงมีครรภ์ที่แท้งบุตรในระยะแรกเริ่มอาจโชคดีพอที่จะผ่านพ้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ทันทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์
การแท้งบุตรในระยะเริ่มต้นอาจมีอาการคล้ายกับการมีประจำเดือนที่มีเลือดออกในปริมาณมากร่วมกับอาการปวดท้อง บางครั้งอาจมีก้อนเลือดข้นๆ ปนออกมาด้วย
สำหรับการแท้งบุตรในระยะท้าย เป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่งที่หญิงมีครรภ์บางรายพบว่าตนเองสูญเสียลูกน้อยระหว่างการตรวจอัลตราซาวนด์และพบว่าหัวใจของลูกน้อยไม่เต้นแล้ว
 

วิธีการลดความเสี่ยง


วิธีการที่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดการแท้งบุตรมีอยู่สองสามวิธีด้วยกันคือ การเลิกสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าการเลิกสูบบุหรี่ทันทีที่ตัดสินใจว่าต้องการจะมีลูกจะเป็นประโยชน์มากที่สุด แต่การเลิกสูบบุหรี่หลังจากทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์แล้วก็ยังคงมีประโยชน์สำหรับตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่เสมอถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน
งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรปฎิบัติ การขอคำปรึกษาจากสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์เพื่อขอคำแนะนำและวิธีการดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ล่าสุดก็สามารถช่วยได้ หรือคุณแม่อาจศึกษาจากข้อมูลของเราได้ที่หัวข้อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ 

โอกาสเสี่ยงต่อการแท้งจะเพิ่มสูงขึ้น หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อไปนี้
  • เบาหวาน
  •  โรคไต
  •  โรคของต่อมไทรอยด์
  •  ลูปัส ( lupus)
  •  เนื้องอกผนังมดลูก ( fibroids) ( หรือความผิดปกติอื่นๆ ในมดลูก )
  •  มีประวัติการแท้งบุตร


หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ควรปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณเพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตัวเองเป็นพิเศษที่อาจจำเป็นสำหรับคุณ แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจหรือเครื่องมือพิเศษบางอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
หากคุณเคยแท้งบุตรมาก่อน พยาบาลผดุงครรภ์หรือแพทย์ของคุณจะให้คำแนะนำในการดูแลรักษาตัวเองเป็นพิเศษระหว่างสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอและงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์
 




















เรียนรู้วิธีเสริมสร้างกำลังใจหลังจากการแท้ง

 
สายใยแห่งความผูกพันกับลูกน้อยในครรภ์อาจเริ่มถักทอขึ้นทันทีที่คุณแม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ ดังนั้นการสูญเสียลูกน้อยกะทันหันจึงทำให้คุณแม่หัวใจสลาย การเสริมสร้างกำลังใจอย่างเหมาะสมและให้เวลาช่วยเยียวยาถือเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณแม่ท่านอื่นๆที่เคยผ่านประสบการณ์การแท้งบุตรอันเลวร้ายมาก่อนหน้านี้อาจให้แง่คิดดีๆไว้ใน ห้องสนทนาของคุณแม่ ซึ่งอาจช่วยคลายความทุกข์ใจลงได้บ้าง  หรืออีกเว็บไซต์หนึ่งที่น่าสนใจของประเทศอังกฤษอย่าง Miscarriage Association  ซึ่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่หญิงมีครรภ์ในการรับมือกับการแท้งบุตรมาเป็นเวลากว่า 25 ปี ก็สามารถเป็นแหล่งข้อมูลและความช่วยเหลือที่ดีได้



ไม่มีความคิดเห็น: