วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิธีการจัดการกับความเหนื่อยล้าระหว่างตั้งครรภ์

การรับมือกับความเหนื่อยล้าระหว่างตั้งครรภ์อาจทำได้ยากสักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะท้ายๆของการตั้งครรภ์ มีอยู่สองสามวิธีที่สามารถช่วยให้คุณรู้สึกเหนื่อยน้อยลงได้
  • หาเวลา 'พักผ่อน' สัก 20 นาที ในช่วงสายและช่วงบ่ายจะช่วยให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้น
  • การพาดเท้าให้สูงขึ้นจะช่วยบรรเทาอาการบวมน้ำ ( fluid retention) และช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
  • หากคุณรู้สึกเหนื่อยล้า การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสมยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อช่วยให้ร่างกายมีระดับภูมิต้านทานที่แข็งแรงอยู่เสมอ
  • อาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก เช่น ผักใบเขียว สามารถช่วยเสริมสร้างพลังงานในร่างกายได้อีกด้วย
  • พยายามหลีกเลี่ยงการพึ่งพาอาหารรสหวานเพื่อช่วยให้คุณไม่เหนื่อยง่าย มีแรงตลอดทั้งวัน
  • พยายามใช้เครื่องช่วยอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่มี
  • หาเวลาพักผ่อน เช่าหนังมาดูสักเรื่อง ช็อปปิ้งทางอินเทอร์เน็ต ทำอะไรก็ได้ที่คุณอยากทำ
  • หรืออาจจะหยุดงานสักวัน เพราะคุณสมควรจะพักผ่อนบ้าง

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เหตุใดคุณจึงเป็นโรคเชื้อราในช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์


โรคเชื้อราในช่องคลอด ( Thrush)  คือ การติดเชื้อราในบริเวณช่องคลอด ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อยีสต์ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า "แคนดิดา อัลบิแคนส์" (Candida albicans) คนส่วนใหญ่จะมีเชื้อราอาศัยอยู่ในร่างกาย ซึ่งโดยปกติแล้ว เชื้อราจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด แต่ในระหว่างที่ตั้งครรภ์นั้น สภาพภายในร่างกายของเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับความสมดุลของกรด-ด่างที่เปลี่ยนไปจากเดิมซึ่งจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อยีสต์ดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคเชื้อราในช่องคลอดได้
 
 
โรคเชื้อราในช่องคลอดมีอาการอย่างไรบ้าง

  • อาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่หากคุณสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ตั้งแต่หนึ่งอย่างขึ้นไป แสดงว่าคุณอาจเป็นโรคเชื้อราในช่องคลอด
  •  อาการคันหรือแสบร้อนภายในหรือรอบๆ ช่องคลอด
  •  อาการเจ็บโดยทั่วไปและ/หรือบวมแดง
  • อาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์หรือขณะปัสสาวะ

ตกขาวที่มีลักษณะขาวขุ่นและข้นกว่าปกติ การมีตกขาวที่มีลักษณะใส มีสีขาวคล้ายน้ำนมออกมามากขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากคุณสังเกตเห็นว่าตกขาวมีลักษณะข้นขึ้น คล้ายกับคอตเทจ ชีส ( cottage cheese) นั่นอาจจะเป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคเชื้อราในช่องคลอด


ฉันควรโทรหาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์หรือไม่

หากคุณคิดว่าอาจเป็นโรคเชื้อราในช่องคลอด ควรแจ้งให้พยาบาลผดุงครรภ์หรือสูติแพทย์ของคุณทราบโดยเร็วที่สุดเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


วิธีการรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอดอย่างปลอดภัย

  •  การซื้อยาจากร้านขายยามาใช้เองระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ควรปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณก่อนซื้อยาใดๆ
  • ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือแผ่นประคบที่มีสารสกัดจากวิทช์ เฮเซล ( witch-hazel compress) เพื่อบรรเทาอาการในบริเวณดังกล่าว
  •  หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือแช่น้ำอุ่น เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคเชื้อราในช่องคลอดจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่อบอุ่น
  •  ควรใช้เจลอาบน้ำหรือสบู่ที่ปราศจากส่วนผสมของน้ำหอม
  •  สวมกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายที่ไม่รัดแน่นจนเกินไปเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • รับประทานโยเกิร์ตชนิดธรรมดาซึ่งมีจุลินทรีย์ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โรคเชื้อราในช่องคลอดกับลูกน้อยของคุณ
    ถึงแม้ว่าโรคเชื้อราในช่องคลอดอาจสร้างความรำคาญอย่างมาก แต่ก็ไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่ก็มีโอกาสที่จะติดต่อไปยังลูกได้ในระหว่างคลอดและทำให้คุณรู้สึกเจ็บระหว่างให้นมลูกได้ ถ้าจะให้ดี คุณควรรักษาให้หายก่อนที่จะคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอดกับลูกน้อยของคุณ

ถึงแม้ว่าโรคเชื้อราในช่องคลอดอาจสร้างความรำคาญอย่างมาก แต่ก็ไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่ก็มีโอกาสที่จะติดต่อไปยังลูกได้ในระหว่างคลอด ถ้าจะให้ดีคุณควรรักษาให้หายก่อนที่จะคลอด

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อาการบวมระหว่างตั้งครรภ์เป็นอาการทั่วไปใช่หรือไม่


อาการบวมหรือรู้สึกตัวพองระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นปฏิกิริยาทางธรรมชาติที่มีต่อปริมาณของเหลวในร่างกายที่เพิ่มขึ้นซึ่งคุณแม่ต้องแบกรับไปทุกแห่งหน คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกบวมที่บริเวณข้อเท้าและเท้าหากต้องยืนนานๆ บางท่าน แหวนที่สวมอยู่รัดแน่นขึ้น หรือหน้าบวมขึ้นด้วย

อาการบวมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงตอนกลางวันและบวมเพิ่มมากขึ้นในช่วงเย็น มักเกิดจากกิจกรรมต่างๆในระหว่างวันของคุณแม่หรือสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว ถึงอาการบวมอาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัด แต่โดยทั่วไปแล้วอาการบวมระหว่างตั้งครรภ์โดยปราศจากอาการอื่นๆร่วมด้วยนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลและไม่เป็นอันตรายต่อคุณและลูกน้อย แต่หากบวมมากเกินไป บางครั้งอาจเป็นเพราะความดันเลือดสูงขึ้น จึงควรหมั่นสังเกตอาการและปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์หากคุณรู้สึกกังวล


วิธีการลดอาการบวมระหว่างตั้งครรภ์

  • การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสามารถช่วยลดอาการบวมลงได้ เชื่อกันว่ากระเทียม หัวหอมสดและแอปเปิ้ลมีประสิทธิภาพดีเป็นพิเศษและควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มซึ่งจะทำให้คุณขาดน้ำได้
  • พยายามออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ การออกกำลังกายด้วยการเดิน
  • ดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มให้เพียงพออย่างน้อยวันละหกถึงแปดแก้ว หรือพยายามทานผักและผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก หากคุณดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ร่างกายของคุณอาจพยายามกักเก็บน้ำไว้ในร่างกายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณยิ่งบวมขึ้น
  • หาเวลาพักผ่อนระหว่างวันเมื่อใดก็ตามโอกาส โดยพาดเท้าไว้ให้สูงกว่าระดับเอว
  • หลีกเลี่ยงการยืนเป็นระยะเวลานานๆ
  • การนวดแบบผ่อนคลายก็สามารถลดอาการบวมได้เช่นกัน
  • ควรนอนตะแคงซ้ายเพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้งน้ำหนักไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ที่ชื่อว่าเวนาคาวา ( vena cava) ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของร่างกาย

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทำไมเกิดรอยแตกลายขึ้นกับว่าที่คุณแม่และรอยแตกลายที่ว่าคืออะไร


ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่ารอยแตกลายจะปรากฏขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์เนื่องจากผิวหนังมีการยืดตัว ทำให้เกิดการฉีกขาดในชั้นผิวหนังที่อยู่ลึกลงไป  รอยแตกลายจะมีสีแดงหรือน้ำตาล ซึ่งขึ้นกับโทนสีของผิวคุณ  โดยรอยแตกลายจะมีสีเข้มขึ้นเรื่อยๆในระยะตั้งครรภ์และจะเปลี่ยนเป็นสีขาวนวลใกล้เคียงสีผิวในช่วง 2-3 เดือนหลังคลอด หากช่วงนี้รอยแตกลายค่อนข้างเด่นชัด ก็ไม่ต้องกังวลต่อไป เพราะรอยเหล่านั้นจะค่อยๆจางลงไปเอง




แม้ว่าคุณจะไม่สามารถยับยั้งการเกิดรอยแตกลายได้ แต่ก็สบายใจได้ด้วยวิธีง่ายๆที่จะช่วยลดการเกิดรอยแตกลายไปมากกว่านี้  นั่นก็คือ
  • รับประทาน อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ  ซึ่งอุดมไปด้วยผลไม้และผักสด ธัญพืช เมล็ดพืชเปลือกแข็งและถั่วชนิดต่างๆ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • เพิ่มน้ำหนักตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอ หากสามารถทำได้
  •  ออกกำลังกาย เบาๆ โดยสม่ำเสมอ เพื่อช่วยควบคุม การเพิ่มน้ำหนัก
  • วิตามินอีจะช่วยให้ผิวหนังคงความยืดหยุ่นอยู่เสมอ คุณแม่สามารถนวดหน้าท้อง ต้นขาและสะโพกด้วยครีมหรือน้ำมันที่มีส่วนผสมของวิตามินอีได้
            
ไม่มี วิธีการใด ที่รับรองได้ว่าสามารถขจัดรอยแตกลายได้อย่างสมบูรณ์ แม้แต่การขจัดริ้วรอยด้วยเลเซอร์ก็ยังไม่ได้ผล 100% เสมอไป พูดง่ายๆ ก็คือ วิธีที่ใช้ได้ผลสำหรับคุณแม่คนหนึ่งอาจใช้ไม่ได้ผลกับคุณ อย่างไรก็ตาม นักบำบัดโดยส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้วิธีการนวดด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์ชนิดใดชนิดหนึ่งต่อไปนี้เป็นประจำทุกวัน ทั้งก่อนและหลังการตั้งครรภ์

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบคืออะไร


โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ( Cystitis) คือ การติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะซึ่งก่อให้เกิดอาการแสบร้อนในขณะปัสสาวะ โดยปกติแล้ว ปัสสาวะจะปราศจากเชื้อโรคโดยธรรมชาติ แต่ระหว่างการตั้งครรภ์ ทางเดินปัสสาวะจะคลายตัวและขยายออก ดังนั้น โอกาสที่แบคทีเรียจะเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะก็เพิ่มขึ้นด้วย นั่นหมายความว่าคุณแม่มีโอกาสเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมากขึ้น




อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • ปวด รู้สึกแสบร้อนหรือระคายเคืองขณะปัสสาวะ
  • ปวดปัสสาวะบ่อยและรู้สึกปวดปัสสาวะมาก แต่มีปัสสาวะออกมาเพียงเล็กน้อย 

 


การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ลองปฏิบัติตามขั้นตอนง่ายๆ ต่อไปนี้เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ
  • ปัสสาวะทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์
  • หลังจากปัสสาวะเสร็จเรียบร้อย ให้เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
  • อย่ากลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น และพยายามปัสสาวะให้สุดเท่าที่จะทำได้
  • ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้น ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำบ่อยหรืออาบน้ำเป็นเวลานานๆ และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์
  • สวมกางเกงชั้นในผ้าฝ้ายและหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงยีนส์หรือกางเกงขายาวแนบเนื้อ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ 

 






การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โดยปกติ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบสามารถรักษาให้หายขาดด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์และระหว่างที่ยังไม่หายขาด ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เชื่อกันว่าการดื่มน้ำ แครนเบอร์รี่จะช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รู้จักกับอาการปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์


อาการปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ และไม่ใช่สิ่งที่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด แต่บางครั้ง อาการปวดท้อง หรือ อาการปวดเกร็งท้องอาจเป็นสัญญาณของอาการที่น่าเป็นห่วงบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยในขณะเดียวกัน
 
สาเหตุทั่วไปของอาการปวดท้อง
  • อาหารไม่ย่อยหรือรู้สึกแสบร้อนที่หน้าอก (heartburn) – บางครั้งอาการปวดท้องอาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • เส้นเอ็นรอบมดลูกของคุณยืดตัว – นี่เป็นสาเหตุของอาการปวดเกร็งท้องที่ไม่รุนแรง
  • ความรู้สึกตึงเครียด – อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดเกร็งท้องระหว่างหรือหลังจากถึงจุดสุดยอด ( orgasm)

สาเหตุของอาการปวดท้องที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น

บางครั้ง อาการปวดท้องอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น หากคุณพบกับอาการใดๆ ดังต่อไปนี้ โปรดปรึกษาแพทย์โดยทันที
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ  – อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่นๆ
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก – อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นทั่วทั้งบริเวณท้อง
  • การแท้ง – อาการปวดเกร็งช่องท้องที่เกิดขึ้นร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด
  • การคลอดก่อนกำหนด – มีอาการปวดท้อง หรือ ปวดเกร็ง ที่เกิดร่วมกับท้องร่วง ปวดหลัง หรือ การหดรัดตัว ในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ถึง 36


อาการปวดระหว่างตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำถือเป็นอาการปกติคุณแม่ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลอะไรมากนัก พยายามนึกเสมอว่าคุณเท่านั้นที่รู้จักร่างกายของตัวคุณเองดีกว่าใครทั้งหมด ดังนั้นถ้าอาการเจ็บหรือปวดทำให้คุณรู้สึกกังวลใจ ควรปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ทันที  ถึงแม้ว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นจะมีสาเหตุมาจากอาหารไม่ย่อย แต่การป้องกันไว้ก่อน ย่อมดีกว่ามานั่งเสียใจในภายหลัง

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างตั้งครรภ์คืออะไร


ออกกะปริดกะปรอยระหว่างตั้งครรภ์ ( pregnancy spotting) จะคล้ายกับการมีรอบเดือนที่มีเลือดออกน้อยมาก ซึ่งพบมากในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีเลือดไหลออกมาแบบกะปริดกะปรอย ซึ่งเกิดจากไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ฝังตัวเข้ากับผนังมดลูก เลือดออกกะปริดกะปรอยที่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของอาการที่น่าเป็นห่วงบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแท้งบุตรหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก (ectopic pregnancy) เพราะฉะนั้นการปรึกษากับสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณทุกครั้งที่สังเกตเห็นเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งที่คุณแม่สมควรทำที่สุด หากมีอาการเลือดออกกะปริดกะปรอยในช่วงสามเดือนก่อนคลอด อาจส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนด  หากเกิดอาการนี้กับคุณในช่วงนี้ควรโทรหาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อทราบสาเหตุที่ชัดเจน  แต่ทางที่ดีที่สุดคุณควรจะเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อป้องกันไว้ก่อนดีกว่า

เลือดออก

เลือดออกในระยะแรกของการตั้งครรภ์อาจเป็นสิ่งที่น่ากังวล แต่ก็เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยจนน่าประหลาดใจ
ในระยะแรกๆ ของการตั้งครรภ์ คุณแม่บางท่านอาจมีเลือดออกเล็กน้อยเป็นเวลา 1-2 วันเพราะไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ได้ฝังตัวกับผนังมดลูก หลังจากนั้น รกจะฝังตัวในเยื่อบุมดลูกซึ่งอาจจะทำให้มีเลือดออกเล็กน้อยได้เช่นกัน ในบางครั้ง ว่าที่คุณแม่อาจรู้สึกว่าปากมดลูกอ่อนนุ่มซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้มีเลือดออกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ได้
ฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์จะทำให้คุณไม่มีประจำเดือน แต่การเแปรปรวนของรอบเดือนอาจเกิดขึ้นได้บ้าง ทำให้ว่าที่คุณแม่บางท่านอาจมีเลือดออกในช่วงที่ครบกำหนดการมีรอบเดือนตามปกติได้
นอกจากนี้ เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อในช่องคลอดหรือปากมดลูก (vaginal or cervical infection) หรือ ติ่งเนื้อ (polyp) และยังอาจเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์ได้ด้วยเช่นกัน คุณควรปรึกษากับพยาบาลผดุงครรภ์หรือสูติแพทย์เกี่ยวกับอาการเลือดออกที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์เสมอ เพราะคุณอาจต้องเข้ารับการสแกนเพื่อหาสาเหตุของอาการดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆ
โดยส่วนใหญ่ แพทย์มักจะไม่พบสาเหตุของอาการเลือดออกในระยะแรกเริ่มของการตั้งครรภ์ และการตั้งครรภ์ก็ยังเป็นไปตามปกติอย่างต่อเนื่องจนครบกำหนดและคลอดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์


ตกขาวที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์

ไม่ต้องวิตกกังวลหากคุณสังเกตเห็นว่าคุณมีตกขาวออกมามากกว่าปกติระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะนี่คืออาการทั่วไปในหญิงมีครรภ์ทุกคน ตกขาวที่มีปริมาณมากขึ้นนี้เกิดจากเลือดที่ไหลมาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยจะมีลักษณะขาว ใสและไม่มีอาการคัน และตกขาวจะมีลักษณะข้นขึ้นเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกน้อยของคุณใกล้ออกมาลืมตาดูโลกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งตกขาวอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือโรคเชื้อราในช่องคลอด ( thrush)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการคันหรือมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย โดยลักษณะนี้ ตกขาวจะค่อนข้างขุ่นข้น  มีสีเขียวหรือเหลือง และอาจมีกลิ่นเหม็น หากคุณแม่สังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ควรติดต่อสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณทันที เพื่อตรวจสอบและช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้
  การจัดการกับตกขาวที่มีลักษณะข้นขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว ตกขาวมักจะสร้างความรู้สึกรำคาญมากกว่าความรู้สึกวิตกกังวล หากคุณมีอาการตกขาว พยายามนึกไว้เสมอว่าแล้วอาการนี้ก็จะหายไปทันที่ที่คลอดลูกน้อย
  •  หากรู้สึกว่าตกขาวทำให้คุณรำคาญหรือไม่สบายตัวเนื่องจากเปรอะเปื้อนกางเกงชั้นใน ให้ใช้แผ่นอนามัยเพื่อรองซับเอาไว้ (ดีกว่าใช้ผ้าอนามัยแบบสอด)
  • ชำระล้างบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำอุ่นเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมซึ่งจะทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้นได้
  •  สวมกางเกงชั้นในผ้าฝ้ายเนื้อบางเบา






การจัดการกับตกขาวที่มีลักษณะข้นขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว ตกขาวมักจะสร้างความรู้สึกรำคาญมากกว่าความรู้สึกวิตกกังวล หากคุณมีอาการตกขาว พยายามนึกไว้เสมอว่าแล้วอาการนี้ก็จะหายไปทันที่ที่คลอดลูกน้อย
  • หากรู้สึกว่าตกขาวทำให้คุณรำคาญหรือไม่สบายตัวเนื่องจากเปรอะเปื้อนกางเกงชั้นใน ให้ใช้แผ่นอนามัยเพื่อรองซับเอาไว้ (ดีกว่าใช้ผ้าอนามัยแบบสอด)
  • ชำระล้างบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำอุ่นเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมซึ่งจะทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้นได้
  •  สวมกางเกงชั้นในผ้าฝ้ายเนื้อบางเบา

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทำไมคุณจึงรู้สึกเจ็บคัดเต้านม


การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายจะทำให้เต้านมไวต่อความรู้สึกและมีอาการเจ็บคัดเต้านม เช่นเดียวกับอาการหลายอย่างที่มาพร้อมกับการตั้งครรภ์ ด้วยเหตุนี้เอง อาการเจ็บคัดเต้านมจึงเป็นอาการที่หญิงมีครรภ์ส่วนใหญ่มักบ่นถึงในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ แต่อาการเจ็บนี้จะลดลงทันทีที่ร่างกายสามารถปรับสภาพกับระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ได้แล้ว

ในบางครั้งอาการเจ็บคัดเต้านมอาจเกิดขึ้นเนื่องจากเต้านมของคุณมีขนาดใหญ่ขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว เพราะระหว่างการตั้งครรภ์ ขนาดของเต้านมของคุณอาจเพิ่มขึ้นอีก 2-3 คัพไซส์ หรือมากกว่านั้น เนื่องจากต่อมน้ำนมมีขนาดใหญ่ขึ้นและปริมาณเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเต้านมก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและบางครั้ง การสวมชุดชั้นในที่มีขนาดไม่เหมาะสมก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บคัดเต้านมได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นควรตรวจดูให้แน่ใจว่าชุดชั้นในที่คุณสวมใส่มีขนาดเหมาะสมหรือเปล่า
 
วิธีการจัดการกับอาการเจ็บคัดเต้านม

สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการเจ็บคัดเต้านมมาจากฮอร์โมนซึ่งทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้อาการเจ็บลดลงก็คือการสวมชุดชั้นในที่มีขนาดเหมาะสม ช่วยให้คุณรู้สึกสบายตัวมากขึ้นเมื่อสวมชุดชั้นในสำหรับใส่นอนระหว่างการตั้งครรภ์ในระยะแรกๆ


ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ส่วนมากจะมีบริการวัดขนาดที่เหมาะสมกับร่างกาย ซึ่งทางห้างก็ยินดที่จะวัดขนาดและช่วยเลือกว่าชุดชั้นในที่คุณเลือกนั้นเหมาะสมกับสรีระของคุณหรือไม่ อีกอย่าง เต้านมของคุณจะมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ตลอดช่วงระยะเวลาตั้งครรภ์ ดังนั้นคุณอาจจะต้องซื้อชุดชั้นในที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อยในภายหลัง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องการออกกำลังกาย สิ่งสำคัญที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่งก็คือ เต้านมของคุณต้องการชุดชั้นในที่กระชับขึ้นอีกในขณะออกกำลังกาย ดังนั้น หากเป็นไปได้ คุณควรซื้อชุดชั้นในที่เหมาะสมสำหรับใส่ตอนออกกำลังกายด้วยเช่นกัน และอย่าลืมบอกคู่รักของคุณว่าบริเวณเต้านมของคุณนั้นไวต่อความรู้สึก เพื่อให้เขารู้ว่าคุณอาจไม่ต้องการให้เขาสัมผัสเวลาที่รู้สึกเจ็บคัดเต้านม

สาเหตุของการเกิดริดสีดวงทวารระหว่างตั้งครรภ์


ริดสีดวงทวารระหว่างตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นกับว่าที่คุณแม่มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกันคือ
  • เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดในร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้เส้นเลือดดำขยายตัวมากกว่าปกติ ซึ่งหมายถึงเส้นเลือดดำอันเปราะบางรอบๆทวารหนักอาจเคลื่อนไหวน้อยลงและมีอาการบวมขึ้นได้ โดยเฉพาะช่วงที่มดลูกเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไปเพิ่มความดันในเส้นเลือดดำมากขึ้น
  • การออกแรงเบ่งอุจจาระก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยเช่นกัน เพราะฉะนั้น หากว่าที่คุณแม่หลายๆ ท่านพบว่ากำลังมีอาการท้องผูก  ก็ควรจะรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงและดื่มน้ำมากๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการของริดสีดวงทวารได้ทางหนึ่ง
     
ยารักษาริดสีดวงทวาร

การรักษาด้วยยาอาจเป็นเรื่องยากสักนิด เนื่องจากยาสำหรับรักษาริดสีดวงทวารที่สามารถใช้ได้ระหว่างตั้งครรภ์มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ดังนั้นควรสอบถามสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ว่าครีม ขี้ผึ้งหรือยาเหน็บสำหรับรักษาริดสีดวงทวารชนิดใดที่คุณสามารถใช้ได้

การดูแลรักษาด้วยตัวเอง

ยารักษาริดสีดวงทวาร ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการรักษา ยังมีหนทางอื่นๆอีกสองสามวิธีที่คุณอาจลองนำไปใช้เพื่อช่วยให้ริดสีดวงทวารหายเร็วยิ่งขึ้น ดังนี้
  • ควรหาโอกาสนอนตะแคงซ้ายทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยคลายแรงดันภายในช่องท้อง หากสามารถทำได้ การยกขาพาดกับโต๊ะประมาณ 20 นาที ก็อาจช่วยได้บ้าง
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ แป้งโรยตัวหรือผ้าเช็ดทำความสะอาดผิว ( wet wipes) ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม ล้างก้นด้วยน้ำสะอาดหลังขับถ่ายและเช็ดให้แห้งสนิท คลายกางเกงชั้นในผ้าฝ้ายให้หลวมจะช่วยให้คุณรู้สึกสบายตัวขึ้น
  • เข้าห้องน้ำทันทีเมื่อคุณรู้สึกปวดอุจจาระ อย่ากลั้นไว้โดยเด็ดขาด
  • พยายามหลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระหรืออาการท้องผูก
  • พยายามออกกำลังกายเบาๆ วันละนิดเพื่อช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  • พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งหรือการยืนเป็นเวลานานๆ และนั่งผ่อนคลายในอ่างน้ำอุ่นหากรู้สึกระคายเคืองที่ก้น หากการนั่งแช่น้ำอุ่นเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสำหรับคุณ ขอแนะนำให้ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบแทน

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ภาวะครรภ์เป็นพิษคืออะไร


ภาวะครรภ์เป็นพิษ ( Pre-eclampsia) จะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงตั้งครรภ์หรือเกิดขึ้นทันทีหลังคลอด แต่โชคดีที่คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้ ส่วนใหญ่แล้วมักมีอาการไม่รุนแรงและจะมีผลต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์โดยเฉลี่ย 1 ใน 14 คนเท่านั้น แต่ก็มีบางครั้งที่ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องซับซ้อนและไม่เป็นที่เข้าใจชัดเจนนักของอาการที่รุนแรงขึ้นดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่แล้วอาจเกิดจากความบกพร่องของรก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการลำเลียงเลือดและสารอาหารไปยังทารกน้อยในครรภ์ จึงส่งผลกระทบต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ได้
 

อาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ

 
เป็นเรื่องยากสักนิดที่ภาวะครรภ์เป็นพิษในระยะเริ่มแรกนั้น จะไม่มีอาการภายนอกให้สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน แต่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถทราบได้จากการรับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ และสามารถตรวจพบได้ก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้น

สูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณจะคอยสังเกตภาวะความดันเลือดสูง ระดับโปรตีนในปัสสาวะ และปัญหาการไหลเวียนเลือด เช่น การบวมน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับภาวะครรภ์เป็นพิษ

แต่ก็ใช่จะสรุปได้ว่าคุณมีภาวะครรภ์เป็นพิษ เพราะความดันเลือดสูงและอาการบวมที่ไม่มากนักสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในระหว่างตั้งครรภ์ และไม่ได้บ่งชี้ถึงปัญหาที่รุนแรงเสมอไป นอกจากนี้ ระดับโปรตีนในปัสสาวะก็บ่งบอกถึงอาการติดเชื้อ ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะชี้ชัดถึงภาวะครรภ์เป็นพิษในช่วงเริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม อาการต่อไปนี้อาจเกิดขึ้นในระยะต่อมาของการตั้งครรภ์ ดังนั้นหากคุณแม่มีอาการเช่นนี้ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
  •  ปวดศีรษะรุนแรง และมีอาการตาพร่ามัว หรือมองเห็นแสงเป็นจุดๆ หรือเห็นแสงวูบวาบร่วมด้วย
  •  จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่
  • คลื่นไส้อาเจียนแม้ว่านี่จะเป็นอาการแพ้ท้องโดยทั่วไปก็ตาม
  •  มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้า และเท้า
  •  น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไปอย่างรวดเร็ว


ใครมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ได้มากที่สุด
 
ถึงแม้เราจะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุที่แท้จริงของภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้หญิงมีครรภ์บางท่านมีภาวะเสี่ยงกว่าคนอื่นๆ นั่นคือ
  •  อายุ – สตรีที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยกว่า 20 ปีหรือมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
  •   น้ำหนัก– สตรีตั้งครรภ์ที่อ้วนเกินไป หรือมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 ขึ้นไป
  • โรคประจำตัวในปัจจุบัน– เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคลูปัส (systemic lupus erythematosus) โรคไต และไมเกรน
  •   ถ้าคุณเพิ่งตั้งครรภ์ครั้งแรก หรือนี่เป็นครรภ์แรกของคุณกับคู่สมรสคนใหม่
  • ถ้าคุณตั้งครรภ์แฝด
  •   ระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์ – ส่วนใหญ่จะพบในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกคนที่สองห่างจากครรภ์แรกมากกว่า 10 ปี
  •  ประวัติการมีภาวะครรภ์เป็นพิษ – หากคุณหรือมารดาหรือพี่สาว/น้องสาวของคุณเคยมีภาวะนี้มาก่อน
     


การป้องกัน

เพราะโรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของภาวะครรภ์เป็นพิษ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายท่านจึงแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานอาหารอย่างสมดุลและถูกสุขลักษณะ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของภาวะนี้และจะเป็นการดีมากหากคุณสร้างนิสัยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่มีคำว่าสายเกินไปหากจะเริ่มตั้งแต่วันนี้  อย่างไรก็ตาม การสร้างนิสัยการทานที่ดีไม่ได้หมายความถึงการอดอาหาร  เพราะการอดอาหารเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งในช่วงตั้งครรภ์ หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม คุณสามารถขอคำแนะนำเรื่องอาหารที่ควรรับประทานจากสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณหรือสนทนาออนไลน์กับทีมงานผู้เชี่ยวชาญของเรา

สิ่งที่คุณแม่ต้องทำก็คือการไปตรวจครรภ์ตามนัดเป็นประจำทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจความดันเลือดและตรวจปัสสาวะซึ่งเป็นการตรวจเช็คอาการครรภ์เป็นพิษ



ภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ( Mild Pre-eclampsia)


คุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีอาการเพียงเล็กน้อย อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเสมอไป เพียงแต่ต้องรับการตรวจร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ บางราย อาจจำเป็นต้องรับประทานยาหรืออาหารเสริมหากคุณมีความดันเลือดต่ำ แต่ยาหรืออาหารเสริมเหล่านี้ ไม่ได้ป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่เป็นวิธีการควบคุมอาการของภาวะดังกล่าวเท่านั้น

 
ภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความเสี่ยงสูง ( Higher Risk Pre-eclampsia)

หากผลการตรวจวินิจฉัยว่าคุณมีภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณพักผ่อนมากๆ และอาจจะต้องนอนพักที่โรงพยาบาลเป็นครั้งคราว ซึ่งแพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำทุกวันและทำอัลตราซาวนด์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ หากคุณหรือลูกตกอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง แพทย์อาจฉีดยาเร่งคลอดให้แก่คุณเพื่อชักนำให้เกิดอาการเจ็บครรภ์คลอด  หรือทำคลอดให้คุณด้วยการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ( caesarean section)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเปิดดูได้ที่เว็บไซต์ Pre-eclampsia Foundation หรือโทรติดต่อทีมผู้เชี่ยวชาญและพูดคุยปรึกษากับพยาบาลของเรา

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อาการแพ้ท้องเกิดจากอะไร



เชื่อกันว่าอาการแพ้ท้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "HCG" (Human Chorionic Gonadotropin) ที่เพิ่มสูงขึ้น และประสาทรับกลิ่นมีความไวมากขึ้น แม้แต่สภาพอารมณ์หรือระดับความเครียดก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ท้องได้เช่นกัน ดังนั้นคุณแม่จึงควรหาเวลาผ่อนคลายความเครียดให้มากๆ  ถึงแม้ว่าอาการแพ้ท้องอาจทำให้คุณรู้สึกวิตกกังวล แต่หากคุณสามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ อาการแพ้ท้องก็จะไม่เป็นอันตรายกับลูกน้อยของคุณอย่างแน่นอน แต่หากคุณไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้เลยหรือรู้สึกเบื่ออาหารทุกชนิด ควรปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณพวกเขาสามารถช่วยคุณได้แน่นอน



อาการแพ้ท้องจะคงอยู่เป็นระยะเวลานานเท่าใด

โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการแพ้ท้อง จะหมดไปในช่วงเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาการคลื่นไส้อาเจียนอาจเกิดขึ้นได้อีกตลอดช่วงตั้งครรภ์ เพียงแค่ได้กลิ่นบางอย่างที่ชวนให้คลื่นเหียนอาเจียน และแน่นอนว่ากลิ่นที่ชวนให้รู้สึกคลื่นเหียนอาเจียนก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน







มีวิธีการรักษาอาการแพ้ท้องให้หายขาดหรือไม่ 
 
วิธีการรักษาอาการแพ้ท้องที่ใช้ได้ผลมี ดังนี้

  • รับประทานของขบเคี้ยวง่ายๆ และไม่หวานมากทันทีที่คุณตื่นนอน เช่น บิสกิตหรือขนมปังกรอบจะช่วยได้อย่างมาก จากนั้น ให้นอนพักอีก 20-30 นาที ก่อนลุกออกจากเตียง
  • ในช่วงที่เหลือระหว่างวัน พยายามรับประทานครั้งละน้อยๆ แต่รับประทานบ่อยๆ ทานอะไรสักหน่อย ดีกว่าไม่ได้ทานอะไรเลยหรือซื้อของขบเคี้ยวมาเก็บไว้ เช่น ขนมปังกรอบหรือโยเกิร์ตไว้รับประทานเวลาหิว
  • อาหารที่มีโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรตสูงสามารถช่วยป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ เพราะฉะนั้น พยายามรับประทานอาหารทั้งสองชนิดนี้ร่วมกัน เช่น รับประทานไข่สุกกับขนมปังปิ้ง
  • ดื่มน้ำมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเปล่า น้ำผลไม้ นม ชาผลไม้ น้ำอะไรก็ตามที่คุณสามารถดื่มได้ น้ำขิงหรือชาขิงจะช่วยให้อาการคลื่นไส้อาเจียนลดลงและทำให้หายจากอาการแพ้ท้องได้ ที่สำคัญ อย่าลืมหาเวลาผ่อนคลายเพื่อกำจัดความเครียดที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน การพูดคุยกับว่าที่คุณแม่คนอื่นๆ ที่มีอาการแพ้ท้องเช่นเดียวกันก็สามารถช่วยผ่อนคลายได้

ความรู้สึกของการสูญเสียลูก


การสูญเสียลูกน้อยในช่วง 24 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์เรียกว่าการแท้ง เป็นการสูญเสียอันเลวร้ายที่ยากจะทำใจยอมรับได้ และซ้ำร้ายที่ประมาณหนึ่งในเจ็ดของการตั้งครรภ์จบลงด้วยการแท้ง เป็นเหตุการณ์อันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นบ่อยเกินไป ถึงแม้ว่าหญิงตั้งครรภ์บางรายอาจแท้งบุตรในระยะท้ายๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการแท้งจะเกิดขึ้นภายในช่วง 13 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์


สาเหตุของการแท้งคืออะไร


โดยปกติ การแท้งในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของทารกในครรภ์ ส่วนการแท้งในระยะท้ายๆ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ความผิดปกติของรกหรือมดลูก หรือปากมดลูกอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ทราบสาเหตุของการแท้งที่แน่ชัด
การตรวจครรภ์ ทั้งสองวิธีที่ใช้สำหรับตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ ( การเจาะตรวจน้ำคร่ำและการเจาะตรวจรก : Amniocentesis and Chorionic Villus Sampling) อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแท้งได้ด้วยเช่นกัน หากคุณได้รับการแนะนำให้เข้ารับการตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนี้ แพทย์จะอธิบายความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการตรวจทั้งสองชนิดอย่างชัดเจน



สัญญาณของการแท้งบุตร


หญิงมีครรภ์ที่แท้งบุตรในระยะแรกเริ่มอาจโชคดีพอที่จะผ่านพ้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ทันทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์
การแท้งบุตรในระยะเริ่มต้นอาจมีอาการคล้ายกับการมีประจำเดือนที่มีเลือดออกในปริมาณมากร่วมกับอาการปวดท้อง บางครั้งอาจมีก้อนเลือดข้นๆ ปนออกมาด้วย
สำหรับการแท้งบุตรในระยะท้าย เป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่งที่หญิงมีครรภ์บางรายพบว่าตนเองสูญเสียลูกน้อยระหว่างการตรวจอัลตราซาวนด์และพบว่าหัวใจของลูกน้อยไม่เต้นแล้ว
 

วิธีการลดความเสี่ยง


วิธีการที่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดการแท้งบุตรมีอยู่สองสามวิธีด้วยกันคือ การเลิกสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าการเลิกสูบบุหรี่ทันทีที่ตัดสินใจว่าต้องการจะมีลูกจะเป็นประโยชน์มากที่สุด แต่การเลิกสูบบุหรี่หลังจากทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์แล้วก็ยังคงมีประโยชน์สำหรับตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่เสมอถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน
งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรปฎิบัติ การขอคำปรึกษาจากสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์เพื่อขอคำแนะนำและวิธีการดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ล่าสุดก็สามารถช่วยได้ หรือคุณแม่อาจศึกษาจากข้อมูลของเราได้ที่หัวข้อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ 

โอกาสเสี่ยงต่อการแท้งจะเพิ่มสูงขึ้น หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อไปนี้
  • เบาหวาน
  •  โรคไต
  •  โรคของต่อมไทรอยด์
  •  ลูปัส ( lupus)
  •  เนื้องอกผนังมดลูก ( fibroids) ( หรือความผิดปกติอื่นๆ ในมดลูก )
  •  มีประวัติการแท้งบุตร


หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ควรปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณเพื่อขอคำแนะนำในการดูแลตัวเองเป็นพิเศษที่อาจจำเป็นสำหรับคุณ แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจหรือเครื่องมือพิเศษบางอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
หากคุณเคยแท้งบุตรมาก่อน พยาบาลผดุงครรภ์หรือแพทย์ของคุณจะให้คำแนะนำในการดูแลรักษาตัวเองเป็นพิเศษระหว่างสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอและงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์
 




















เรียนรู้วิธีเสริมสร้างกำลังใจหลังจากการแท้ง

 
สายใยแห่งความผูกพันกับลูกน้อยในครรภ์อาจเริ่มถักทอขึ้นทันทีที่คุณแม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ ดังนั้นการสูญเสียลูกน้อยกะทันหันจึงทำให้คุณแม่หัวใจสลาย การเสริมสร้างกำลังใจอย่างเหมาะสมและให้เวลาช่วยเยียวยาถือเป็นสิ่งที่สำคัญ คุณแม่ท่านอื่นๆที่เคยผ่านประสบการณ์การแท้งบุตรอันเลวร้ายมาก่อนหน้านี้อาจให้แง่คิดดีๆไว้ใน ห้องสนทนาของคุณแม่ ซึ่งอาจช่วยคลายความทุกข์ใจลงได้บ้าง  หรืออีกเว็บไซต์หนึ่งที่น่าสนใจของประเทศอังกฤษอย่าง Miscarriage Association  ซึ่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่หญิงมีครรภ์ในการรับมือกับการแท้งบุตรมาเป็นเวลากว่า 25 ปี ก็สามารถเป็นแหล่งข้อมูลและความช่วยเหลือที่ดีได้



วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อาการแสบร้อนที่หน้าอก ( Heartburn) เกิดจากอะไร


ในขณะที่ตั้งครรภ์ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากขึ้นเป็นพิเศษเพื่อคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งผลพวงจากกลไกนั้นทำให้ลิ้นปิดเปิดที่บริเวณทางเข้าของกระเพาะอาหารคลายตัวไปด้วย ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ เนื่องจากว่ากล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลายมากกว่าปกติ จึงทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านระบบย่อยอาหารยากขึ้นตามไปด้วย และในขณะที่ครรภ์ของคุณมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ความดันในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ มากขึ้น

ถึงแม้ว่าอาการแสบร้อนที่หน้าอกระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่ชอบใจนัก แต่อย่างน้อยอาการนี้ก็มีผลดีต่อลูกน้อยในครรภ์อยู่บ้าง เนื่องจากว่า อาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปต้องใช้เวลาในการเคลื่อนผ่านระบบย่อยอาหารนานขึ้น ซึ่ง ทำให้ลูกน้อยของคุณมีโอกาสได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่

วิธีบรรเทาอาการแสบร้อนที่หน้าอก

หากคุณมีอาการแสบร้อนที่หน้าอกระหว่างตั้งครรภ์ วิธีการต่อไปนี้อาจช่วยให้อาการของคุณทุเลาลงได้:
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเผ็ดจัด ไขมันสูงหรือรับประทานอาหารมากจนเกินไป
  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณคาเฟอีนสูงในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนที่หน้าอกได้เช่นกัน ดังนั้น ระหว่างตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มอย่างเช่น กาแฟ จะเป็นการดีที่สุด
  • เลิกดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยว แต่อย่าลืมรับประทานอาหารที่มีกากใยจากแหล่งอื่นแทน เช่น ขนมปัง โฮลเกรน ข้าวกล้อง อาหารเช้าที่ทำจากธัญพืชไม่ขัดขาวและพืชผักผลไม้ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแหล่งอาหารที่อุดมด้วยกากใย
  •  เลิกหรือพยายามรับประทานช็อกโกแลตให้น้อยลง
  •  รับประทานอาหารครั้งละน้อย แต่รับประทานบ่อยขึ้นและอย่ารับประทานอาหารใกล้เวลานอนจนเกินไปนัก
  •  ดื่มน้ำสองแก้วก่อนถึงเวลารับประทานอาหารเพื่อช่วยในการย่อย
  • เคี้ยวหมากฝรั่งหลังรับประทานอาหารเพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำลาย ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลของกรดในกระเพาะอาหาร
  •  การดื่มนมก่อนนอนก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้
  •  คุณแม่สมาชิกดูเม็กซ์แนะนำต่อๆกันมาเป็นเวลาช้านานว่าชาเปปเปอร์มินต์และกระเทียมสด (ไม่ใช่รับประทานด้วยกันนะคะ) สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ ลองรับประทานกระเทียมชนิดแคปซูลแทน หากคุณไม่ชอบกลิ่นกระเทียมสด
  • การใช้หมอนหนุนรองเพิ่มเล็กน้อยเวลานอนเพื่อให้หัวยกสูงขึ้นสามารถช่วยป้องกันอาการแสบร้อนที่หน้าอกได้เช่นกัน
  •  ประการสุดท้าย แพทย์อาจสั่งยาลดกรดให้แก่คุณ ยาบางชนิดที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาอาจไม่ควรใช้ระหว่างตั้งครรภ์ ดังนั้น ควรปรึกษาสูติแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยา

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เหตุใดคุณจึงมีอาการวิงเวียนศีรษะระหว่างตั้งครรภ์


ช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ระบบไหลเวียนเลือดของร่างกายจะมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงลูกน้อยให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหมายความว่าระบบไหลเวียนเลือดของคุณจะเริ่มทำงานหนักขึ้น และในไตรมาสที่ 2 ความดันเลือดในหลอดเลือดของคุณอาจทำให้คุณรู้สึกวิงเวียนศีรษะและไม่สบายได้ อาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะระหว่างตั้งครรภ์ได้ด้วยเช่นกัน

  •  หากคุณทำกิจวัตรประจำวันโดยไม่ได้รับประทานอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณจะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกวิงเวียนศีรษะเล็กน้อย การทานอาหารว่างจานด่วนจะช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายได้
  •  การตั้งครรภ์ทำให้คุณรู้สึกร้อนได้ง่าย และเมื่อร่างกายร้อนจนเกินไปอาจทำให้คุณรู้สึกหน้ามืดตาลาย อากาศที่สดชื่นและเครื่องดื่มเย็นๆ จะช่วยทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้
  • โดยปกติแล้ว หากมีความดันเลือดต่ำอาจทำให้คุณรู้สึกเวียนหัวได้เช่นกัน













วิธีการป้องกันอาการวิงเวียนศีรษะระหว่างตั้งครรภ์

ในขณะที่ครรภ์ของคุณมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายของคุณจะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น ควรทำกิจกรรมต่างๆ ให้ช้าลงอีกเล็กน้อย ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเราแล้วคุณจะไม่เกิดอาการวิงเวียนจนเกินไป    

  •  อย่ารีบลุกขึ้นจากเตียงนอนหรือเก้าอี้
  • ควรอาบน้ำที่อุ่นกำลังดี อย่าอาบน้ำที่ร้อนจนเกินไป
  •  หากคุณต้องยืนเป็นระยะเวลานานๆ พยายามเกร็งกล้ามเนื้อสะโพกเล็กน้อยหรือขยับปลายเท้าอยู่เสมอเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
  •  ดมยาดมที่มีกลิ่นแรง
  • อย่าปล่อยให้ท้องว่าง มิฉะนั้นระดับน้ำตาลในเลือดอาจลดลงอย่างรวดเร็ว
  • เข้ารับการตรวจวัดความดันโลหิตจากพยาบาลผดุงครรภ์หรือแพทย์ของคุณ 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย  
 
ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่

 
หากคุณรู้สึกมีอาการหน้ามืดและเวียนศีรษะระหว่างตั้งครรภ์อยู่เสมอ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการมองเห็นไม่ชัด ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดศีรษะ) ให้รีบติดต่อสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณโดยทันที และควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอาการต่างๆโดยเร็วที่สุดเพื่อความสบายใจ

อาการท้องผูกเกิดขึ้นจากสาเหตุใด


ระหว่างตั้งครรภ์ อาการท้องผูกไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับฮอร์โมนในร่างกายอีกด้วย ร่างกายของคุณแม่จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นกลไกการทำงานที่ยอดเยี่ยมของร่างกาย ช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ผ่อนคลาย ช่วยในการขยายตัวของลูกน้อยในครรภ์ แต่ทั้งนี้ กลไกดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อลำไส้ด้วย เพราะทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ช้าลง

นอกจากนี้ อาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์ยังอาจเกิดจากการที่มดลูกไปเพิ่มแรงกดทับบริเวณลำไส้และลำไส้ใหญ่ ทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลงด้วยเช่นกัน


การกระตุ้นการทำงานของลำไส้
 
เมื่อต้องการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ การเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เป็นสิ่งจำเป็น เช่น ผลไม้ ผักและเมล็ดพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ( whole grains)  และควรดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำจะช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น จึงควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และลองดื่มน้ำผลไม้ต่างๆ เสริมด้วย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำลูกพรุน)

เมื่อคุณมีอาการท้องอืดและท้องผูก คุณอาจรู้สึกไม่อยากออกกำลังกาย  แต่การว่ายน้ำ การเดินหรือ การออกกำลังกายเบาๆ 20-30 นาทีต่อวัน เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ และยังช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ของคุณทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย หากคุณทานวิตามินเสริมหรือธาตุเหล็กชนิดเม็ดต่างๆ ควรปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณก่อนว่าสามารถทานได้หรือไม่ เพราะวิตามินและธาตุเหล็กมีส่วนทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวช้าลงได้เช่นกัน และควรสอบถามสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณด้วยว่ายาระบายชนิดใดที่สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยระหว่างตั้งครรภ์ แม้ว่าคุณอาจไม่จำเป็นต้องใช้มัน  แต่การเตรียมยาระบายเก็บไว้ก็อาจมีประโยชน์ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สาเหตุของอาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์


ผู้หญิงจำนวนมากมักจะมีอาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสามเดือนหลังก่อนถึงกำหนดคลอด โดยทั่วไป อาการปวดหลังจะเกิดจากการที่น้ำหนักของครรภ์ถ่วงอยู่บริเวณด้านหน้า ทำให้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างมากขึ้น นอกจากนี้ ในขณะที่ร่างกายปรับสภาพเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด เส้นเอ็นต่างๆ ของร่างกายจะอ่อนนุ่มขึ้นกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้คุณปวดบริเวณเชิงกราน และอาการปวดอาจลามไปถึงบริเวณก้นกบได้

การป้องกันอาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์  
 
  • ท่วงท่า- ท่วงท่าของคุณมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันอาการปวดที่อาจจะเกิดขึ้น ในขณะที่ยืน ลองจินตนาการว่ามีเชือกเส้นหนึ่งผูกอยู่ที่กลางศีรษะและดึงร่างกายคุณให้ตั้งตรง พยายามเก็บท้องและสะโพกกับลำตัว
  • การนั่ง- ท่วงท่าในขณะกำลังนั่งหรือนอนก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน พยายามหลีกเลี่ยงการนั่งหลังงอ การรองหลังด้วยหมอนหนุนก็สามารถช่วยคุณได้
  • การนอน- ในตอนกลางคืน ให้นอนตะแคงโดยมีหมอนหนุนไว้ระหว่างเข่าเพื่อช่วยให้คุณอยู่ในท่วงท่าที่ถูกต้อง หากต้องการลุกขึ้น ให้ใช้แขนทั้งสองข้างช่วยดันตัวขึ้นและพยุงท้องของคุณเอาไว้ วิธีนี้จะช่วยลดการเกร็งกล้ามเนื้อหลังได้อย่างมากและช่วยป้องกันอาการปวดหลังได้
  • รองเท้า- รองเท้าที่สวมใส่สบายก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน ผู้หญิงบางคนชอบใส่รองเท้าพื้นเรียบ ในขณะที่บางคนจะรู้สึกสบายขึ้นเมื่อสวมรองเท้าที่มีส้นเล็กน้อย ขอแค่เพียงสวมใส่รองเท้าที่ทำให้คุณรู้สึกสบายก็พอ
  • ออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ - สามารถช่วยลดอาการปวดหลังขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน ลองหาโอกาสเข้าร่วมหลักสูตรฝึกออกกำลังกายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ใกล้บ้าน เช่น การออกกำลังกายในน้ำหรือการฝึกโยคะเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนคลอด หรือแม้แต่การว่ายน้ำและการเดินเบาๆ เป็นประจำก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
  •  หลีกเลี่ยงการยกของหนัก - ร่างกายของคุณต้องแบกรับน้ำหนักทารกที่เติบโตขึ้นทุกวันอยู่แล้ว ดังนั้น การยกของหนักจะยิ่งทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักมากขึ้นอีก หากคุณจำเป็นต้องยกของจริงๆ ควรจำไว้เสมอว่า ใหย่อเข่าลงและใช้ต้นขาทั้งสองดันตัวเพื่อยืนขึ้น ห้ามก้มแล้วยกโดยเด็ดขาด

การรักษาอาการปวดหลัง 
 
  • การหนุนรองครรภ์ – คลายอาการเกร็งกล้ามเนื้อหลังของคุณด้วยการนอนตะแคงโดยหาหมอนที่มีรูปทรงแบบลิ่ม ( wedge-shaped pillow) หนุนรองไว้ใต้ครรภ์ หากคุณรู้สึกปวดมาก ให้ลองสวมเข็มขัดพยุงหลังแบบพิเศษระหว่างวันและปรึกษากับพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณ

  • การประคบร้อนหรือประคบเย็น – แม้ว่า ว่าที่คุณแม่บางท่านจะชอบใช้วิธีประคบเย็นด้วยถุงน้ำแข็ง (หรือถุงถั่วแช่แข็ง)  แต่ขวดน้ำอุ่นหรือขวดน้ำร้อนก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้เหมือนกัน

  • การนวด – การนวดแบบผ่อนคลายสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพียงแต่น้ำมันที่ใช้สำหรับนวดแบบทั่วไปอาจไม่เหมาะสำหรับหญิงมีครรภ์ ดังนั้น ควรปรึกษากับนักอโรมาบำบัด ( aromatherapist) หรือสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ของคุณก่อนเพื่อความปลอดภัย

รู้สึกกังวลว่าลูกจะดิ้นเมื่อไร

เวลาที่คนส่วนใหญ่นึกถึงอาการลูกดิ้น มักจะพากันนึกภาพเท้าน้อยๆ ที่กำลังกระทุ้งท้องแม่ หรือเห็นภาพลูกน้อยกำลังดิ้นอยู่ แน่นอนว่าในช่วงแรกๆ ลูกน้อยในครรภ์ยังตัวเล็กนิดเดียว และมีพื้นที่ว่างมากพอที่จะเคลื่อนไหวไปรอบๆ โดยไม่ชนกับท้องของคุณแม่ แต่ที่จริงแล้ว คุณอาจไม่ทันรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในระยะแรกๆ ของการตั้งครรภ์ด้วยซ้ำไป


การดิ้นครั้งแรก


เมื่อคุณรู้สึกถึงอาการลูกดิ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งโดยทั่วไปลูกจะเริ่มดิ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 16 – 20 คุณจะรู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่าลูกน้อยอยู่ในครรภ์จริงๆ และกำลังเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง แน่นอนว่า การตั้งครรภ์ของว่าที่คุณแม่แต่ละคนย่อมจะแตกต่างกันไปบ้าง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องรู้สึกถึงอาการลูกดิ้นตรงตามระยะเวลา รอบการเคลื่อนไหวของลูกน้อยสำหรับว่าที่คุณแม่แต่ละคนจะต่างกันไป

การเคลื่อนไหวของลูกน้อยในระยะสุดท้าย



  • สัปดาห์ที่ 24 ถึง 28 – เป็นธรรมดาที่คุณจะรู้สึกว่าลูกน้อยสะอึก ในขณะที่เสียงดังโครมครามจะไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อย แต่อาจทำให้ลูกน้อย ' สะดุ้ง ' ได้
  • ช่วงสัปดาห์ที่ 29 – ภายในมดลูกจะเริ่มมีการบีบตัวขึ้นเล็กน้อย ดังนั้นลูกน้อยในครรภ์อาจมีการเคลื่อนไหวน้อยลง แต่อาจรู้สึกว่าเด็กดิ้นแรงขึ้น
  • ช่วงสัปดาห์ที่ 32 – ลูกน้อยในครรภ์อาจเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะเริ่มกลับหัว (เด็กควรจะกลับหัวลง) ในช่วงสัปดาห์ที่ 36 เนื่องจากพื้นที่ว่างในครรภ์จะเริ่มแคบลงเรื่อยๆ และลูกน้อยเริ่มแข็งแรงมากขึ้น คุณอาจรู้สึกได้ว่าการเคลื่อนไหวของลูกน้อยเป็นไปอย่างลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ลูกน้อยเตะชายโครง
  • สัปดาห์ที่ 36 ถึง 40 – โดยปกติคุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด ดังนั้นไม่ต้องกังวลเมื่อลูกน้อยเคลื่อนไหวน้อยลง แต่การรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวประมาณ 10 ครั้ง ในช่วง 24 ชั่วโมง ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หากคุณสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ลองตรวจสอบสัญญาณเริ่มต้นได้ที่นี่ค่ะ

ประจำเดือนขาด

นับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ชัดเจนที่สุด หากปกติแล้วประจำเดือนของคุณมักมาตรงเวลา
ควรลองทดสอบ การตั้งครรภ์ได้แล้ว


แพ้ท้อง สัญญาณบ่งบอกว่าคุณตั้งครรภ์

อาการแพ้ท้อง มักแตกต่างกันไปในแต่ละคน คุณแม่บางท่าน อาจมีอาการคลื่นไส้หรือรู้สึกไม่สบาย โดยมักจะเกิดขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ได้สัก 2-3 สัปดาห์ แต่บางท่านก็มีอาการเพียงแค่ไม่กี่วันหลังตั้งครรภ์ ถ้าโชคดี คุณอาจไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้ และการแพ้ท้องอาจเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเช้าเสมอไป

ปัสสาวะบ่อยขึ้น

ถ้าคุณสังเกตเห็นว่าตัวเองเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น นี่อาจเป็นสัญญาณที่น่ายินดีว่าคุณกำลังเริ่มตั้งครรภ์แล้ว ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วง 3เดือนแรกจะทำให้คุณปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

รู้สึกเหนื่อยง่ายหรือเปล่า

สัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ที่พบเห็นได้บ่อยอีกประการหนึ่งก็คือความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหมดเรี่ยวแรง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายดังนั้นหากคุณรู้สึกเหนื่อยง่ายโดยไม่มีสาเหตุลองตรวจสอบดูว่าเป็นเพราะคุณกำลังตั้งครรภ์หรือเปล่า

รสชาติแปลกๆ ในปาก

คุณแม่บางท่านเล่าว่าครั้งแรกที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกขมเฝื่อนหรือมีรสชาติแปลกๆในปากขณะที่คุณแม่อีกหลายท่านก็รู้สึกเหม็นหรือทนไม่ได้กับอาหารหรือเครื่องดื่มที่เคยทานอยู่ทุกวันเช่นชาหรือกาแฟ

การเปลี่ยนแปลงของเต้านม

ผิวหนังบริเวณรอบเต้านมหรือที่เรียกว่าลานนมจะมีสีคล้ำขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น

มีเลือดออกโดยไม่คาดคิดหรือเป็นตะคริว

ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะเดินทางจากท่อนำไข่เพื่อไปฝังตัวที่ผนังมดลูกและรอการเติบโต กระบวนการนี้เรียกว่า การฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว และมักจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 และ 4 ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียง เช่น การเป็นตะคริว และมีเลือดออกกะปริดกะปรอย โดยเลือดอาจมีสีแดงสด สีชมพู หรือสีน้ำตาล

ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยการทดสอบการตั้งครรภ์

แน่นอนว่าหนทางเดียวที่จะแน่ใจว่าคุณตั้งครรภ์แล้วก็คือการทดสอบการตั้งครรภ์โดยผลทดสอบนับจากวันแรกที่ประจำเดือนขาดไปหากเป็นผลบวกก็มั่นใจได้ว่าตั้งครรภ์แน่นอน 

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เรียนรู้วงจรการตกไข่


หากคุณมั่นใจว่าคุณได้รับประทานอาหารที่เหมาะสมและดูแลสุขภาพร่างกายแข็งแรง พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์แล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณควรเรียนรู้เกี่ยวกับช่วงเวลาไข่ตก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วงจรการตกไข่ของคุณ ซึ่งจะช่วยให้คุณทราบว่าเวลาใดที่คุณมีโอกาสตั้งครรภ์สูงที่สุด

•  เมื่อไหร่คือวันไข่ตก : โดยปกติแล้ว รอบประจำเดือนของคุณจะเกิดขึ้น ทุกๆ 23 ถึง 35 วัน และมีโอกาสสูงที่ไข่จะตกในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนของคุณจะมา แต่ก็อาจแตกต่างกันไปในผู้หญิงแต่ละคน โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงเรามักมีประจำเดือนทุกๆ 28 วัน และไข่จะตกในราววันที่ 14 ของรอบเดือน

• สัญญาณของระยะตกไข่ : ในช่วงการตกไข่ คุณจะรู้สึกว่ามีของเหลวออกมาทางช่องคลอดมี ลักษณะเป็นเมือก ใส ลื่น คล้ายไข่ขาว

• บันทึกอุณหภูมิของร่างกายคุณ : สัญญาณที่แสดงระยะตกไข่ยังรวมถึงความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในร่างกายด้วย คุณจึงสามารถคาดการณ์ช่วงเวลาการตกไข่ได้จากอุณหภูมิของร่างกาย โดยอุณหภูมิจะลดลงก่อนไข่ตกและเพิ่มขึ้นหลังจากไข่ตกแล้ว แต่คุณจำเป็นต้องบันทึกอุณหภูมิ
ในเวลาเดียวกันทุกเช้า ก่อนดื่มน้ำและรับประทานอาหาร หรือก่อนลุกจากเตียง

• ซื้อชุดทดสอบระยะตกไข่ : คุณอาจหาซื้อชุดทดสอบระยะตกไข่จากร้านขายยา หรือตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไป โดยในชุดทดสอบนี้จะมีแผ่นจุ่มทดสอบปัสสาวะ ซึ่งคล้ายกับการทดสอบการตั้งครรภ์

• มีสัมพันธ์รักอย่างสม่ำเสมอในช่วงตกไข่ : เมื่อทราบระยะตกไข่แล้ว ช่วงนี้ ก็ควรมีเพศสัมพันธ์กันให้บ่อยขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์  เพราะปกติแล้ว ไข่ที่ตกแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งวันหากไม่มีการปฎิสนธิ ขณะที่อสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 2 - 3 วัน การมีสัมพันธ์รักบ่อยๆจึงมีโอกาสที่จะช่วยให้อสุจิปฎิสนธิกับไข่ได้ทันเวลา 


วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การหมั่นดูแลสุขภาพช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้อย่างไร


การเตรียมร่างกายของคุณให้พร้อมสำหรับการมีลูกนั้นไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงแค่ดูแลตัวเองและเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการให้กำเนิดและการเติบโตของชีวิตน้อยๆ  ส่วนคู่รักของคุณ เพียงแค่แน่ใจว่าอสุจิของเขาแข็งแรงพอที่จะวิ่งไปถึงเส้นชัยก็พอแล้ว

ตรวจสอบร่างกาย

ในการเตรียมตัวเพื่อตั้งครรภ์ ก่อนอื่นคุณควรตรวจสอบสุขภาพร่างกายสักเล็กน้อยดังนี้

การสูบบุหรี่:

การสูบบุหรี่เป็นการลดโอกาสการตั้งครรภ์ลงอย่างมาก ไม่เพียงแต่อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพัฒนาการของทารกในครรภ์ แต่ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย เพราะฉะนั้น  หากว่าคุณสูบบุหรี่ ก็ควรพยายามเลิกเสียแต่วันนี้ โดยอาจขอคำปรึกษาจากแพทย์ประจำตัวเพื่อช่วยให้คุณเลิกได้ง่ายขึ้น

อาหารและการออกกำลังกาย:

การมีน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ เพราะฉะนั้นควรออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่หลากหลายอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยให้ร่างกายอยู่ในสภาพพร้อมเต็มที่สำหรับการตั้งครรภ์ลูกน้อย 
หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลมากเกินไป นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับอาหารที่มีคุณค่าดังนี้
ทานผักและผลไม้มากๆ หรืออย่างน้อย 5 ส่วนต่อวันและควรเลือกทานผักและผลไม้หลากหลายสีสัน
ทานอาหารประเภทแป้งให้เพียงพอ เช่น ขนมปัง พาสต้า ข้าว (ถ้าเป็นข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลเกรน จะยิ่งดีเพราะมีโฟเลตสูง) ข้าวโอ๊ต และมันฝรั่ง
ทานอาหารประเภทโปรตีนทุกมื้อ เช่น หมูหรือไก่ไม่ติดมัน ปลา (สัปดาห์ละสองครั้ง) นม ไข่ ผลไม้ที่มีเปลือกแข็ง  (เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์) เมล็ดพืชและถั่ว (เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง)

วิตามินเสริม:

หากคุณรับประทานอาหารอย่างเพียงพอและเหมาะสมแล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องทานวิตามินเสริมอีกก็ได้ แต่หากต้องการทาน  ควรสอบถามให้แน่ใจว่าวิตามินเหล่านั้นเหมาะสำหรับสตรีที่เตรียมตัวตั้งครรภ์หรือไม่ โดยทั่วไปวิตามินเสริมที่รับประทานเป็นประจำ มักมีส่วนผสมของวิตามินเอ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้หากรับประทานมากเกินไป

กรดโฟลิค:

กรดโฟลิคมีความสำคัญมากเพราะช่วยป้องกันความบกพร่องในการเติบโตของอวัยวะต่างๆ ของทารก เช่น โรคกระดูกไขสันหลังผิดปกติ ( Spina Bifida) กรดโฟลิคมีในอาหารหลายประเภท เช่น ซีเรียล กล้วย และผักใบเขียว แต่อาจเป็นเรื่องยากที่คุณแม่จะรับประทานกรดโฟลิคให้ได้ถึง 400 ไมโครกรัมต่อวัน อันเป็นปริมาณที่คุณแม่ควรได้รับขณะตั้งครรภ์ด้วยเหตุนี้ ขอแนะนำให้คุณทาน โฟลิคเอซิดเสริม ในช่วงตั้งครรภ์แทน และจะเป็นการดีถ้าคุณเริ่มรับประทานโฟลิคเอซิดเสริมเสียแต่ตอนนี้ จนถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์

การใช้ยา:

ยาบางชนิดอาจลดโอกาสการตั้งครรภ์ ดังนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์หากจำเป็นต้องรับประทานยา หรือหากเคยคุมกำเนิดด้วยการใช้ห่วงอนามัยหรือยาคุมกำเนิด เช่น ยา Depro-Provera หรือ Norplant หรือเคยทำหมันมาก่อนก็มีส่วนลดโอกาสในการตั้งครรภ์เช่นกัน   หากคุณเคยรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกัน-ก่อนหน้านี้ ควรปล่อยให้ร่างกายได้พักและปรับตัวสักสองสามเดือนก่อนจะเริ่มเตรียมตัวตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ความเครียด:

วิถีชีวิตในปัจจุบันมักเคร่งเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นคุณควรพยายามทำใจให้สบายและเครียดให้น้อยที่สุด (แม้จะเป็นเรื่องยากสักนิด)
คุณรู้หรือไม่
ผ่อนคลายและสนุกกับการเตรียมตัว
คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับคู่รักทุกคู่ก็คือ ผ่อนคลายและสนุกกับการเตรียมตัวเพื่อมีลูกน้อย เพราะบางครั้งธรรมชาติก็ไม่ต้องการการเร่งรัดหรือกดดันมากเกินไปนัก
ดังนั้นจะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากคุณทั้งคู่มีสัมพันธ์รักที่ดีตลอดเดือน ที่สำคัญ ไม่ควรตั้งเป้าเพื่อการมีลูกอย่างเดียวนั้น เพราะจะสร้างความกดดันแก่ทั้งสองฝ่าย ควรผ่อนคลายให้เป็นไปตามธรรมชาติจะดีที่สุด

เปิดโอกาสให้คู่รักได้มีส่วนร่วม

อย่าลืมว่าโอกาสที่จะตั้งครรภ์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณเพียงฝ่ายเดียว คู่ของคุณก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน และเขาสามารถมีส่วนช่วยได้ด้วยการ

  • ไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • ดื่มเครื่องดื่มประเภทคาเฟอีนให้น้อยลง
  • ผ่อนคลายและลดความเครียด
  • พยายามอยู่ห่างจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นอันตราย: เพราะสารเคมีบางอย่างมีผลกระทบต่ออสุจิ
  • ป้องกันไม่ให้ “ของสำคัญ” ร้อนและอับเกินไป: คนรักของคุณควรสวมใส่กางเกงชั้นในผ้าฝ้ายที่สบายตัว และกางเกงของเขาไม่ควรรัดแน่นจนเกินไป









ส่งเสริมให้คนรักรับประทานอาหารที่มีประโยชน์: การทานผักและผลไม้มากๆ จะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งวิตามินซีที่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตอสุจิที่แข็งแรง เขาควรทานอาหารที่มแร่ธาตุสังกะสี เช่น อาหารทะเล อาหารสดที่ไม่ผ่านการแปรรูป เนื้อสัตว์ ไข่ และขนมปังข้าวไรย์ สามารถช่วยเพิ่มความเป็นชายได้มากขึ้น และผลิตภัณฑ์จากนมที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ  เนื้อวัวและถั่วที่มีธาตุเหล็กก็ควรมีอยู่ในเมนูอาหารประจำวันด้วยเช่นกัน

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โภชนาการเด็กวัยเตาะแตะ

ข้อมูลโภชนาการเด็กวัยเตาะแตะ (อายุ 1-3 ปี) และเด็กเล็ก (อายุ 3-5 ปี)

เด็กในวัยกำลังโตต้องการพลังงาน (แคลอรี) และสารอาหารอื่นในปริมาณมากเพื่อที่จะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี
  • มีหลักฐานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบอาจได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเป็นอาหารที่
    • หวานจัดจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพฟัน
    • มีวิตามินและแร่ธาตุต่ำ เช่น วิตามินเอและดี รวมทั้งธาตุเหล็กและสังกะสี
  • การให้เด็กรับประทนอาหารครบทุกหมู่จะช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอตามความต้องการ

อาหารสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ

  • เมื่อลูกก้าวพ้นจากวัยทารกเข้าสู่วัยหัดเดินก็พร้อมแล้วที่จะรับประทานอาหารครอบครัว แต่ในช่วงแรกอาจยังต้องฉีกอาหารให้เป็นชิ้นเล็กเสียก่อน
  • จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรุงอาหารให้เหมาะสำหรับเด็กรับประทาน โดยจำกัดปริมาณเกลือ น้ำตาล เครื่องปรุงรสเผ็ดจัดให้น้อยที่สุด
  • นมยังคงเป็นส่วนสำคัญในอาหารสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ แต่เด็กวัยนี้จะมีความต้องการนมลดลงเหลือวันละประมาณ 350 มิลลิลิตร หรือเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์จากนม 2-3 ส่วนบริโภค
  • หากลูกได้รับประทานอาหารที่หลากหลายและมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนก็สามารถให้เด็กดื่มนมวัวไขมันเต็มส่วนเป็นเครื่องดื่มหลักภายหลังเด็กอายุครบหนึ่งขวบ
  • หากลูกรับประทานได้น้อยก็อาจเสริมด้วยนมสูตรสำหรับเด็กวัยเตาะแตะ  เพื่อช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนในแต่ละวัน
  • ลูกควรรับประทานอาหารแต่ละหมู่ได้หลากหลาย โดยควรให้เด็กได้รับประทาน
    •     อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตวันละ 4 ส่วนบริโภค
    •     อาหารผลิตภัณฑ์นมวันละ 2-3 ส่วนบริโภค (รวมถึงนม)
    •     เนื้อสัตว์หรืออาหารทดแทนเนื้อสัตว์วันละ 1-2 ส่วนบริโภค
    •     ผักและผลไม้วันละ 5 ส่วนบริโภค

ความต้องการด้านโภชนาการของเด็กวัยเตาะแตะและเด็กเล็ก

พลังงาน
  • เด็กวัยเตาะแตะและเด็กเล็กจำเป็นต้องใช้พลังงาน (แคลอรี) ในการทำกิจกรรม รวมถึงนำไปสนับสนุนการเติบโตและพัฒนาการที่ดี
  • ร่างกายได้รับพลังงานส่วนใหญ่จากไขมันและคาร์โบไฮเดรต และบางส่วนได้รับจากโปรตีน
โปรตีน
  • โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับกระบวนการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งสร้างเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการของร่างกาย
  • เด็กมีความต้องการโปรตีนสูงกว่าผู้ใหญ่

ไขมัน
  • ไขมันบางตัวมีความจำเป็น และเป็นแหล่งของกรดไขมันที่ร่างกายต้องการ
  • ไขมันในอาหารยังเป็นแหล่งของวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ ดี และอี
  • เด็กจำเป็นต้องได้รับไขมันมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากร่างกายต้องการพลังงานสำหรับการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการตามวัย อย่างไรก็ดีสำหรับเด็กตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไปควรรับประทานไขมันไม่เกินร้อยละ 35 ของพลังงานที่ได้จากอาหาร
  • กรดไขมันโอเมกา 3 พบในปลาไขมันสูง ดังนั้นจึงควรรับประทานให้ได้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

คาร์โบไฮเดรต
  • คาร์โบไฮเดรตได้จากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล
  • แป้งเป็นส่วนประกอบหลักในซีเรียล เมล็ดพืช ธัญพืช และผักกินหัว
  • ในช่วง 5 ขวบเด็กควรได้รับคาร์โบไฮเดรตในสัดส่วนร้อยละ 40 ของพลังงานที่ได้จากอาหาร
  • เด็กเล็กไม่จำเป็นต้องได้พลังงานจากของหวาน รวมทั้งควรจำกัดการอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและน้ำผึ้ง

ใยอาหาร
  • ใยอาหารเป็นส่วนประกอบในซีเรียลและผัก ใยอาหารซึ่งจะเปลี่ยนสภาพเป็นกากอาหารในลำไส้เล็กจะช่วยป้องกันท้องผูกและความผิดปกติของลำไส้
  • ใยอาหารอาจทำให้ลูกอิ่มเร็วและทำให้รับประทานอาหารอื่นได้น้อย ดังนั้นจึงไม่ควรให้รับประทานมากเกินไป

วิตามินและแร่ธาตุ
  • วิตามินเป็นสารประกอบอินทรีย์เชิงซ้อนซึ่งร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่ก็มีบทบาทสำคัญในหลายกระบวนการของร่างกาย
  • แร่ธาตุเป็นสารประกอบอนินทรีย์อันมีบทบาทหลายอย่าง
  • อาหารแต่ละอย่างมีวิตามินและแร่ธาตุแตกต่างกัน การรับประทานอาหารที่หลากหลายจะช่วยให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอกับความต้องการ
  • ควรตระหนักถึงข้อมูลสำคัญด้านโภชนาการ เช่น ความสำคัญของธาตุเหล็กและการเสริมวิตามิน คลิกที่นี่ เพื่อติดตามข้อมูลเพิ่มเติมในหัวข้อ ‘โภชนาการเป็นสิ่งสำคัญ'


ช่วย ให้เด็กเล็กมีโภชนาการที่ดี

  • เด็กเล็กจำเป็นต้องรับประทานอาหารแต่ละหมู่ให้หลากหลายเพื่อให้ได้สารอาหารเพียงพอตามความต้องการ
  • ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารแต่ละหมู่ให้หลากหลายโดย คลิกที่นี่ เพื่อนำท่านไปสู่หัวข้อ ‘รับประทานอาหาร 5 หมู่'
  • นมสำหรับเด็กวัยเตาะแตะเป็นนมสูตรพิเศษที่พัฒนาขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการสารอาหารของเด็ก รวมทั้งยังได้เสริมธาตุเหล็ก วิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเสริมโภชนาการในเด็กเล็ก

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปริมาณนมที่ลูกต้องการในช่วงการให้อาหารเสริมตามวัยและชนิดของนมที่เหมาะสม

นม  ยังคงมีบทบาทสำคัญช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วนตลอดช่วงวัยเด็ก

ปริมาณที่เหมาะสม

ในช่วงเริ่มการให้อาหารเสริมตามวัยนั้นลูกควรได้นมวันละ 500-600 มิลลิลิตรจนถึงอายุครบขวบ หลังจากนั้นปริมาณที่ลูกต้องการจะเริ่มลดลงเหลือวันละราว 350 มิลลิลิตร
เมื่อลูกรับประทานอาหารแข็งได้มากขึ้นปริมาณนมที่เขาดื่มก็จะเริ่มลดลง อย่างไรก็ดีควรเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามปริมาณที่แนะนำ นอกจากนี้ยังช่วยลูกให้ทานอาหารเสริมได้โดยใช้วิธีผสมนมแม่หรือนมผงในอาหารเสริม เช่น อาหารธัญพืชหรือปรุงเป็นส่วนผสมในซอส

ชนิดของนมที่เหมาะสม

  • นมแม่ยังคงเหมาะสมสำหรับทารกในช่วงการเริ่มให้อาหารเสริม
  • ไม่ควรให้นมวัวเป็นเครื่องดื่มสำหรับเด็กที่อายุยังไม่ครบ 12 เดือน เนื่องจากนมวัวมีธาตุเหล็กและวิตามินบางตัวในปริมาณน้อย แต่สามารถให้เด็กรับประทานนมวัวได้โดยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร
  • นมวัวที่ให้ลูกดื่มในช่วงหนึ่งขวบถึงสองขวบควรเป็นนมซึ่งมีไขมันเต็มส่วน ไม่ควรให้เด็กดื่มนมพร่องมันเนยจนกว่าจะอายุครบสองขวบ  และไม่ควรให้เด็กดื่มนมขาดมันเนยจนกว่าจะอายุครบห้าขวบ