วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

พืชมีพิษ กลอย

กลอย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Dioscorea hispida Dennst.
ชื่อพ้อง D. hirsuta Blume
วงศ์ Dioscoreaceae
ชื่อท้องถิ่น กลอยข้าวเหนียว กลอยนก กลอยหัวเหนียว

กอย คลี้ มันกลอย Intoxicating yam, Nami, Wild yam
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้เถา ลำต้นกลม มีหนาม

หัวใต้ดิน ส่วนมากกลม เปลือกสีเทาหรือสีฟาง เนื้อขาว

หรือเหลืองอ่อน อมเขียว เป็นพิษ ปริมาณสารพิษจะ

แตกต่างกันไป ในช่วงฤดูฝน (เดือนสิงหาคม) จะมีพิษมากที่สุด

และในฤดูร้อน (เดือนเมษายน) จะมีพิษน้อยที่สุด (1, 2)

ลอยทอดเหลืองกรอบ ส่งกลิ่นหอม น่าอร่อย นับว่าเป็นอาหารชนิด
หนึ่งที่ผู้เขียนชอบรับประทาน และคิดว่าหลายๆท่านก็ชอบรับประทานเช่นเดียวกัน
แต่ในความกรอบอร่อยนี้ น้อยคนนักที่จะรู้ว่ากลอยนั้นถ้าผ่านกระบวนการทำไม่ถูกวิธี จะทำให้เกิดพิษต่อผู้ที่รับประทาน

ตัวอย่างผู้ป่วย

ผู้เขียนมีตัวอย่างผู้ที่ได้รับพิษจากการรับประทานกลอย 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นรุ่นพี่ของผู้เขียน 2 ท่าน รับประทานกลอยทอดที่ซื้อมาจากตลาดตอนพักกลางวัน ประมาณ 1-2 แผ่น พอตกบ่ายแก่ๆ ก็มีอาการอาเจียน วิงเวียน คลื่นไส้ พออาเจียนจนหมดท้อง อาการจึงเริ่มดีขึ้น เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องที่เกิดที่ รพ.วาริชภูมิ มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล จำนวน 6 คน รับประทานกลอยนึ่งสุกหลังอาหารกลางวัน ประมาณบ่าย 3 โมงของวันเดียวกัน 1 ใน 6 คนนั้นก็มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อาเจียน หลังจากนั้นคนอื่นๆก็มีอาการตามมาแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ ในปี 1974 มีรายงานการตายของคนที่เข้าไปในป่าแล้วไม่ระมัดระวังในการรับ-ประทานกลอย ในประเทศมาเลเซีย 3 ราย (3)

สารพิษ

พืชในสกุล Dioscorea จะมีสารพิษ คือ dioscorine ในปริมาณที่แตกต่างกันแล้วแต่ species ในหัวกลอยจะมี dioscorine ในปริมาณมาก หัวกลอยแห้งและลอกเปลือกออก แล้ว จะมีแอลคาลอยด์ที่เป็นพิษ 0.19 % (3, 4)

อาการพิษ

หากรับประทานหัวกลอยมาก จะกดระบบทางเดินหายใจ และทำให้ตายได้ (4) จากรายงานการวิจัยของ วรา จันทร์ศิริศรี และคณะ ฉีดน้ำสกัดกลอยเข้าทางเส้นเลือดดำของหนูถีบจักร พบว่ากลอยจะไปกระตุ้นในระยะแรก ตามมาด้วยการกดระบบประสาทส่วนกลาง การเคลื่อนไหว (motor activity) ลดลงภายหลังฉีดน้ำสกัดกลอยในขนาดที่เริ่มทำให้เกิดพิษ (กดระบบประสาทส่วนกลางเพียงอย่างเดียว) แต่ถ้าฉีดในขนาดสูงมากจนสัตว์ทดลองตาย หนูถีบจักรจะชักในระยะแรก แล้วในที่สุดจะตายเนื่องจากระบบการหายใจถูกกด (2)
ขวัญฤดี เดชาติวงศ์ และคณะ ฉีดน้ำยากลอย (น้ำละลายสารสกัดกลอยด้วย 95 % เอทานอล จนได้สารแอลคาลอย์บริสุทธิ์)เข้าช่องท้องหนูถีบจักรและหนูขาว ขนาดน้อยกว่า 1 มก./นน.หนู 10 กรัม มีฤทธิ์กดสมอง หนูถีบจักรมีอาการซึมลงทุกตัว และบางตัวหลับ นานประมาณ 1 ชม. จึงกลับเป็นปกติ เพิ่มขนาดยาเป็น 1-1.2 มก./ นน.หนู 10 กรัม หนูถีบจักรจะแสดงอาการสมองถูกกดและถูกกระตุ้น หนูเริ่มซึมก่อน หูซีด ต่อมากระวนกระวาย หอบ และชัก หนู 2 ตัวใน 6 ตัว ชักรุนแรง และตาย เนื่องจากการหายใจถูกกด ถ้าใช้ขนาด 1.8-2 มก./ นน.หนู 10 กรัม ทำให้หนูชักรุนแรงมากและตายหมดทั้ง 3 ตัว ในหนูขาวเมื่อฉีดเข้ากล้ามและเข้าหลอดเลือดให้ผลเช่นเดียวกัน ผลต่อการหายใจของแมว พบว่ากลอยทำให้การหายใจเพิ่ม แต่ขนาดมากกลับทำให้การหายใจลดลง กลอยกระตุ้นปมประสาทเสรีของสุนัข ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น มีการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทั้งกล้ามเนื้อทางเดินอาหารและกล้ามเนื้อหลอดเลือดในหนูตะเภา (5)
บุญยงค์ ตันติสิระ และคณะ พบว่าสาร dioscorine มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางหนูถีบจักรอย่างรุนแรง จนทำให้ชักและตาย (ก่อนเกิดอาการชักจะทำให้สัตว์ทดลองเคลื่อนไหวน้อยลง) (6)
พงษ์ ศักดิ์ กรรณล้วน และคณะ ให้สาร dioscorine ขนาด 0.002-1.024 มก./ กก. เข้าทางหลอดเลือดดำของหนูขาวที่สลบด้วย urethane จะทำให้ค่าความดันโลหิตเฉลี่ยของสัตว์ทดลองเพิ่มขึ้น 15-36 % โดยจะเพิ่มสูงสุดเมื่อให้ในขนาด 0.008 มก./ กก. หลังจากนั้นอัตราการเพิ่มของความดันโลหิตจะคงที่ อัตราการเต้นของหัวใจไม่เปลี่ยนแปลง อัตราเร็วของการหายใจจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ สัตว์ทดลองบางตัวจะแสดงอาการหอบและหยุดหายใจ (apnea) ในบางครั้ง ซึ่งมักเกิดในขณะหายใจเข้า ช่วงเวลาที่การหายใจเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของความดัน โลหิต นอกจากนี้ dioscorine ไม่มีผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจของหนูขาว และกล้ามเนื้อผนังหลอดเลือดแดงของกระต่าย (7)
ดอกทำให้เกิดอาการระคายเคือง (8)

การรักษาอาการพิษ (9)

ให้การรักษาตามอาการ ได้แก่
1. ให้ phenobarbital หรือ diazepam เพื่อป้องกันอาการชัก แต่ต้องระวังไม่ให้ในรายที่ขนาดของกลอยที่ได้รับนั้นทำให้เกิดอาการพิษที่ไปลดการเคลื่อนไหว (motor activity) หรือกดระบบประสาทส่วนกลางแล้ว ยาเหล่านี้อาจไปเสริมฤทธิ์แทนที่จะต้านฤทธิ์ของกลอย
2. หยุดหายใจ อาจแก้โดยใช้ neostigmine

ดังนั้น การนำหัวกลอยมาใช้ประโยชน์เป็นอาหาร ต้องใช้ความชำนาญและเวลามาก โดยมีการหั่นเป็นชิ้นบางๆ นำไปล้างในน้ำไหล หรือต้มในน้ำเกลือโดยเปลี่ยนน้ำล้างหลายหน รวมทั้งการทดสอบในขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำไปใช้ประโยชน์ให้แน่ใจว่าไม่มีสารพิษ เหลืออยู่ (10)

ไม่มีความคิดเห็น: