วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

พืชมีพิษ เทียนหยด

เทียนหยด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Duranta repens L.
วงศ์ : Verbenaceae
ชื่ออื่น : เครือออน (แพร่) พวงม่วง ฟองสมุทร สาวบ่อลด (เชียงใหม่) golden dewdrop, pigeon berry, skyflower
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบรูปไข่ ดอกออกทั้งปีออกเป็นช่อ ดอกมีสีม่วงอมฟ้า หรือขาว ผลกลมสีส้มเหลือง (1,2)






เทียนหยด มีชื่อวิทยาศาสตร์ Duranta repens L. แม้ว่าจะนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ แต่ก็อาจจะเกิดเป็นพิษได้ มีสมาชิกท่านหนึ่งได้โทรศัพท์เข้ามาถามเกี่ยวกับเรื่องเทียนหยด เนื่องจากมีเด็กอายุ 10 เดือน ระหว่างที่คุณปู่ คุณย่าพาไปเดินเล่นในสวน ได้เด็ดเอาใบเทียนหยด 2-3 ใบ มาเคี้ยวรับประทาน ประกอบกับเด็กมีอาการหวัดอยู่ เด็กมีอาการง่วงซึมทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นผลเนื่องจากเทียนหยดหรือไม่ จึงได้สอบถามมา แต่ภายหลังได้รับแจ้งว่าเด็กไม่เป็นอะไร เด็กได้รับเพียงเล็กน้อยมากจึงไม่มีอาการ อาการซึมคงเนื่องจากหวัดและยาที่ใช้รักษา (3)

ตัวอย่างผู้ป่วย

พบเด็กที่ออสเตรเลีย ได้รับพิษจากเมล็ดเทียนหยดเสียชีวิต อาการพิษที่พบ คือ นอนไม่หลับ มีไข้ และชัก และมีรายงานอีกฉบับว่ามีเด็กหญิงในฟลอลิด้ารับประทานผลเทียนหยดเข้าไป มีอาการมึนงง สับสน แต่ในวันต่อมาก็มีอาการเป็นปกติ (5)

สารที่ทำให้เกิดพิษ

สาร duacosterol (6), duratoside IV, duratoside V (6) และมีรายงานพบว่ามีผู้พบ กรดไฮโดรไซยานิค (Hydrocyanic acid, HCN) หรือไซยาไนด์ในใบ (6) จากการศึกษาทางเคมีจะเห็นว่ามีสารซึ่งอาจเป็นพิษได้ คือ ถ้ารับประทานใบในปริมาณมาก HCN จะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจนได้ ทำให้มีอาการตัวเขียว และอาจถึงกับเสียชีวิตได้ ถ้าได้รับใน ปริมาณน้อย ก็อาจมีอาการอาเจียน และท้องเสีย (3,4) ส่วนในเมล็ด พบสารจำพวก saponin ได้แก่ duratoside ?V, duratoside V เอกสารหลายเล่มระบุว่าเป็นพิษที่เกิดจาก saponin แต่ saponin ทุกตัวไม่ใช่ตัวทำให้เกิดพิษอย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษ ของเมล็ด เทียนหยด จึงควรที่จะระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

อาการพิษ

ผู้ป่วยจะแสดงอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ ในรายที่เกิดอาการพิษรุนแรง เนื้อเยื่อที่อยู่ลึกๆ อาจถูกทำลาย กรณีที่มีการดูดซึมสารพิษ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง กระหายน้ำ จิตใจมีความกังวล ม่านตาขยาย และหน้าแดง พิษที่รุนแรงแสดงออกที่กล้ามเนื้อไม่มีแรง การประสานงานของกล้ามเนื้อไม่ดี สุดท้ายการไหลเวียนของเลือดไม่สม่ำเสมอและอาจถึงขั้นชัก (7)

การรักษา

ต้องทำให้พิษลดลงหรือได้รับการดูดซึมน้อยที่สุด ได้แก่ การทำให้อาเจียน และให้สารหล่อลื่น เช่น นม หรือไข่ขาว ขณะพักฟื้นให้ทานอาหารอ่อนๆ ให้น้ำเกลือ กรณีมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มาก (7)

ไม่มีความคิดเห็น: