ทับทิม
ชื่ออื่น ๆ : มะเก๊าะ (ภาคเหนือ), มะก่องแก้ว พิลาขาว (น่าน), หมากจัง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), พิลา (หนองคาย), เจียะลิ้ว (จีน)
ชื่อสามัญ : Punic Apple, Pomegranate, Granades, Granats, Carthaginian Apple
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Punica granatum Linn.
วงศ์ : PUNICACEAE
ลักษณะทั่วไป :
ต้น : เป็นพรรณไม้ยืนต้น หรือพรรณไม้พุ่มขนาดกลาง ลักษณะผิวเปลือกลำต้นเป็นสีเทา ส่วนที่เป็นกิ่งหรือยอดอ่อนจะเป็นเหลี่ยม หรือมีหนามแหลมยาวขึ้น
ใบ : ใบมีลักษณะเป็นรูปยาวรี โคนใบมนแคบ ส่วนปลายใบเรียวแหลมสั้น ผิวหลังใบเกลี้ยงเป็นมัน ใต้ท้องใบจะเห็นเส้นใบได้ชัด ขนาดของใบกว้างประมาณ 1-1.8 ซม. ยาวประมาณ 2.5-6 ซม.
ดอก : ดอกออกเป็นช่อ หรืออาจจะเป็นดอกเดียว ในบริเวณปลายยอด หรือง่ามกิ่ง ลักษณะของดอกมีเป็น สีส้ม สีขาว หรือสีแดง ดอกหนึ่งมีกลีบดอกประมาณ 6 กลีบ ปลายกลีบดอกจะแยกออกจากกัน ตรงกลางดอกมีเกสรตัวเมีย และตัวผู้ซึ่งมีอับเรณูเป็นสีเหลือง ขนาดของดอกบานเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 ซม.
ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลม ผิวเปลือกนอกหนาเกลี้ยง ผลเมื่อแก่หรือสุกเต็มที่มีสีเหลืองปนแดง และลักษณะของผลจะแตก หรืออ้างออก ข้างในผลก็จะมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก เป็นรูปเหลี่ยม มีสีชมพูสด
การขยายพันธุ์ : ทับทิม เป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในดินปนทรายหรือดินที่มีกรวด มีการขยาย พันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง หรือการใช้เมล็ด
ส่วนที่ใช้ : เปลือกลำต้น ใบ ดอก เปลือกผล เมล็ด และเปลือกราก
สรรพคุณ :
เปลือกลำต้น ในเปลือกของลำต้นจะมีอัลกาลอยด์ประมาณ 0.35-0.6% และอัลกา
ลอยด์ในเปลือกของลำต้นนี้มีชื่อเรียกว่า Pelletierine และ Isopelletierine ซึ่งใช้เป็นยา ถ่ายพยาธิได้ผลดี
ใบ ใช้ใบสดนำมาต้ม กรองเอาน้ำใช้ล้างแผลเนื่องจากมีหนองเรื้อรังบนหัว หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วเอาไปพอกในบริเวณที่เป็นแผลถลอก เนื่องจากหกล้มได้ เป็นต้น
ดอก ใช้ดอกที่แห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกรองเอาน้ำดื่ม เป็นยาแก้ให้เลือดกำเดา แข็งตัว และแก้หูชั้นในอักเสบ หรือใช้ดอกแห้งนำมาบดให้ละเอียดแล้วใช้ทา หรือโรยบริเวณบาดแผลที่มีเลือดออก เปลือกผล ใช้เปลือกผลที่แห้งแล้วประมาณ 2.5-4.5 กรัม นำมาบดให้ละเอียด หรือนำ มาต้มกินน้ำ ใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสีย โรคบิดเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายพยาธิ ตกขาว ดากออก แผลหิด และกลากเกลื้อนเป็นต้น
เมล็ด ใช้เมล็ดที่แห้งแล้วประมาณ 6-9 กรัม นำมาบดให้ละเอียด หรือทำเป็นยาก้อน กิน เป็นยาแก้โรคปวด จุกแน่น เนื่องจากโรคกระเพาะอาหาร บำรุงกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร และแก้ท้องร่วง เป็นต้น
เปลือกราก ใช้เปลือกรากที่แห้งแล้ว ประมาณ 6-12 กรัม นำมาต้มน้ำกิน เป็นยาแก้ระดู ขาว ตกเลือด ถ่ายพยาธิ หล่อลื่นลำไส้ แก้ท้องเสีย และโรคบิดเรื้อรัง เป็นต้น
อื่น ๆ : ในประเทศอินเดียทางด้านแถบตะวันตกเฉียงใต้ ได้มีการใช้เปลือกผลทับทิม นำมา ย้อมผ้า ซึ่งใช้ผสมกับครามหรือขมิ้น จะได้สีผ้าที่ย้อมนั้นเป็นสีน้ำตาลอมแดง แต่ถ้าใช้เปลือกผลอย่างเดียวก็จะได้เป็นสีเขียว ผ้าที่ย้อมชนิดนี้เรียกว่า RAKREZI
ข้อห้ามใช้ : 1. เป็นบิด ท้องเสีย หรือท้องผูก ไม่สมควรใช้เปลือกราก เป็นยาแก้
2. การใช้เปลือกรากเป็นยาแก้ ควรจะใช้อย่างระมัดระวังให้มาก เพราะเปลือกรากมี พิษ
ถิ่นที่อยู่ : ทับทิม เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเซีย
ตำรับยา :
1. บาดแผลจากเชื้อรา แผลเรื้อรังที่ผิวหนัง ให้ใช้เปลือกรากพอประมาณ นำมาต้มใช้น้ำล้างแผล
2. เป็นบิดเรื้อรัง หรือถ่ายเป็นเลือด ให้ใช้เปลือกผล นำมาผิวไฟให้เกรียม แล้วนำมา บดให้ละเอียด ประมาณ 3-6 กรัม ผสมกับน้ำข้าวกิน หรือมะเขือยาว 1 ลูก แล้วต้มเอาน้ำดื่มกิน
3. เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ถูกน้ำร้อนลวก และแผลจากไฟไหม้ ใช้คั่วหรือผิงให้เกรียม แล้วบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันพืชคลุกให้เข้ากันแล้วใช้ทาบริเวณแผล หรือใช้เปลือกผลและสารส้ม ในประมาณเท่า ๆ กัน แล้วนำมาบดให้ละเอียด แล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น
4. เท้าที่เป็นแผลเน่าเรื้อรัง ให้ใช้เปลือกผลนำมาต้มเคี่ยวน้ำให้เหลว แล้วปล่อยให้ตก ตะกอน จากนั้นก็ใช้ทาบริเวณแผลที่เป็นทุกวัน
5. แก้เลือดกำเดาไหลไม่หยุด
- ใช้ดอกทับทิมสด โขลก หรือหั่นให้เป็นฝอย แล้วใช้อุดรูจมูก
- ใช้ดอกที่แห้งแล้ว นำมาตำให้ละเอียด ประมาณ 0.3 กรัม ใช้เป่าเข้ารูจมูก
- ใช้ดอกแห้งประมาณ 0.3 กรัม และดอกปอแก้วประมาณ 3 กรัม นำมาบด ผสมกันให้ละเอียด แล้วนำมาต้มหรือใช้ผสมกับน้ำกิน ในประมาณ 3 กรัม ต่อน้ำ 1 แก้ว
6. ขับพยาธิตัวกลม และตัวตืด ให้ใช้เปลือกรากที่แห้งแล้ว ประมาณ 18 หรือ 25 กรัม นำมาตำให้ละเอียดแล้ว ใช้ต้มน้ำกิน หรือรินเอาน้ำต้มใส่ข้าวข้น ๆ กินก่อนอาหาร
7. หญิงที่เป็นระดูขาว หรือตกเลือดมากผิดปกติ ให้ใช้รากที่สด ประมาณ 1 กำมือ นำมาเผาไฟให้เกรียม จากนั้นเอาไปต้ม หรือเคี่ยวกับน้ำให้ข้น ใช้กินครั้งละ 1 แก้ว
8. นิ่วในไต ให้ใช้รากสด และลำต้นกิมจี่เช่า ในปริมาณ 30 กรัม เท่ากัน นำมาต้มใช้ น้ำกิน
9. แผลที่ถูกคมมีด หรือของมีคมทุกชนิด ที่มีเลือดไหลใช้ดอกที่แห้งแล้ว นำมาตำให้ละเอียดแล้วใช้พอกบริเวณที่เป็นแผล
10. หูชั้นกลางอักเสบ ให้ใช้ดอกสดนำมาผิงไฟให้เกรียมบนก้อนอิฐ จากนั้นนำมาบด ให้ละเอียดผสมกับพิมเสนพอประมาณ ใช้เป่าเข้าหู
11. สำหรับเด็กที่ไม่เจริญอาหาร อาเจียนเป็นโลหิต หรือจมูกและฟันไม่ปรกติ ให้ใช้ ดอกสด (แห้ง) นำมาต้มน้ำกิน
ตำรับยา (สัตว์) :
1. ถ่ายพยาธิตัวกลมในสุกร ให้ใช้เปลือกรากและผลเล็บมือนาง ในประมาณ 15 กรัม เท่ากัน และเมล็ดหมากอีก 10 กรัม นำมาต้มน้ำให้กิน
2. ถ่ายพยาธิตัวตืดกับสัตว์เลี้ยง ให้ใช้เปลือกรากนำมาบดให้ละเอียด แล้วดอง หรือ แช่ในน้ำประมาณ 4-5 ชม. จากนั้นน้ำไปต้มให้สัตว์กิน (เปลือกรากผง สัตว์ที่มีอายุมาก
ให้ใช้ในปริมาณ 30-60 กรัม สำหรับสัตว์ที่มีอายุอ่อนหรือปานกลาง ให้ใช้ในปริมาณ 10-12 กรัม)
3. ม้าและวัว ที่อ่อนแอหมดกำลัง ให้ใช้เปลือกของผลที่แห้งแล้วในปริมาณ 30 กรัม นำมาตำให้ละเอียดใช้ละลายน้ำให้กิน
4.ลูกสุกรเป็นโรคบิด ให้ใช้เปลือกผลประมาณ 3 กรัม และเจียวซัวจา ผสมกันแล้ว คั่วให้แห้ง แล้วเติมใบกี๊บักประมาณ 10 กรัม นำมาต้มเอาน้ำให้กิน
5. ห้ามเลือดสำหรับบาดแผลข้างนอก ให้ใช้ดอกที่แห้งแล้วบดให้ละเอียดใช้โรย บริเวณที่เป็นแผล
ข้อมูลทางคลีนิค :
1. บิดอมีบา จากการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคบิดอมีบา ในจำนวน 40 คน โดยใช้เปลือก ผลเข้มข้นประมาณ 60% ใช้ต้มน้ำกินทุก ๆ หลังอาหารในประมาณครั้งละ 20 มล (ในช่วงที่กินยา ผู้ป่วยอาจมีอาการหูอื้อ หรืออึดอัดกังวลใจบ้าง แต่ต่อมาอาการก็จะหายเอง) ผลปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
2. ถ่ายพยาธิตัวตืด จากการทดลองกับคนไข้ 9 คน โดยการใช้เปลือกรากแห้ง หลังจากขูดผิวนอกออกแล้วประมาณ 25 กรัม นำไปดองหรือแช่น้ำ (300 มล.) นานประมาณ 24 ชม. จากนั้นก็นำมาต้ม ตั้งไฟอ่อน ๆ จนให้น้ำเหลือประมาณ 100 มล. ใช้ดื่มก่อนที่จะรับประทานอาหารเช้า จากนั้นอีก 4 ชม. ก็ให้กินดีเกลือประมาณ 20-25 กรัม สำหรับขับพยาธิตัวตืดออกมา จากการทดสอบปรากฏว่า
มีผู้ป่วย 5 คน ที่เป็นพยาธิจากหมู 4 คน เป็นพยาธิจากวัว และอีก 1 คนไม่ปรากฏผลอะไรเลย
3. แก้โรคบิดแบคทีเรีย จากการทดสอบกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ในจำนวน 50 คน โดยการใช้เปลือกผลที่แห้งแล้วต้มให้มีความเข้มข้น 50-6% ให้ผู้ป่วยกิน 3-4 ครั้งต่อวันในประมาณ ครั้งละ 10-20 มล. ผลปรากฏว่ามีผู้ป่วย
จำนวน 49 คน มีอาการดีขึ้น อีก 1 คน มีอาการดีขึ้นภายหลัง
4. อาการอักเสบจากการติดเชื้อ จากการทดสอบคนป่วยที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ ผิวหนังเป็นแผลติดเชื้อ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ และหลอดลมอักเสบ จำนวน 415 คน โดยการใช้เปลือกผล ต้มให้เดือดกรองน้ำนำไประเหยแห้ง แล้วนำไปบดให้ละเอียดเป็นผง นำมาใส่ในแคปซูล ขนาด 250 มก. กินครั้งละ 3 ครั้ง ๆ ละ 1-2 แคปซูล ผลปรากฏว่าผู้ป่วยมีอาการหายขาดเลย 305 คน อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 57 คน อาการดีขึ้น 36 คน และอีก 17 คน ไม่ได้ผลเลย
ข้อมูลทางเภสัชวิทยา :
1. สารที่ได้จากการสกัดเปลือกราก เปลือกผลและผลด้วยแอลกอฮอล์ จะมีฤทธิ์ใน
การยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อต่าง ๆ หลายประเภท เช่น Pseudomonas aeruginosa, S. schottmuelleri, Shigella paradysenteriae B.H., S. montevideo, Staphylococcus aureus, Escherichia coli และ S. paradysenteriae III-Z เปลือกผลที่มีได้จากการสกัดในความเข้มข้น 10 กรัมต่อลิตร มีฤทธิ์ช่วยในการยับยั้งเชื้อรา Colletotrichum falcatum Went. และ Piricularia oryzae Cav. น้ำที่สกัด หรือคั้นจากรากและใบมีฤทธิ์ช่วยในการยับยั้งเชื้อ Mycobacterium tuberculosis และมีฤทธิ์ใช้ฆ่าเชื้อไวรัสในยาสูบ
2. สารละลาย pelletierine hydrochloride ในน้ำอัตรส่วน 1 : 10,000 มีฤทธิ์สามารถ ฆ่าพยาธิเส้นด้ายได้ดี ภายใน 5-10 นาที แต่ถ้าใช้ในอัตราส่วน 1 : 50,000 มีผลเพียงทำให้พยาธิระคายเคืองเท่านั้น แต่สำหรับในปัจจุบัน ได้ค้นพบว่าตัวที่มีฤทธิ์ในการทำลายพยาธิที่จริงและได้ผลดีคือ
isopelletierine ตัว pelletierine บริสุทธิ์ มีฤทธิ์ในการทำลายพยาธิได้เหมือนกันถ้าจะได้ผลดีต้องอยู่ในรูปอัลคาลอยด์แทน เนท เพราะอัลคาลอยด์แทนเนท ไม่ถูกดูดซึม และลายน้ำได้ยาก
3. จากการทดลองให้หนูตะเภา หรือหนูใหญ่ตัวเมียกินผงที่ละเอียดแล้วของเปลือก ผล ปรากฏว่าผลของการตั้งท้องน้อยกว่าพวกที่ไม่ได้กิน ทดลองกับกระต่ายจากการใช้เปลือกรากสกัดเอาน้ำ ทำให้เลือดของกระต่ายแข็งตัวได้เร็วขึ้นกว่าปรกติ
หมายเหตุ : พจนานุกรม สมุนไพรไทย ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น